12/18/2554

โรคปริทันต์หรือโรคเหงือกอักเสบ

โรคปริทันต์หรือที่คนทั่วไปเรียกว่า โรคเหงือกอักเสบ ไม่ได้มีการอักเสบเกิดขึ้นแค่ที่เหงือกเท่านั้น แต่เป็นโรคที่เกิดขึ้นได้กับอวัยวะรอบๆฟัน ทั้งเหงือก กระดูกเบ้าฟัน เอ็นยึดปริทันต์และผิวรากฟัน

สาเหตุของโรคปริทันต์ คือ คราบอาหารจำพวกแป้งและน้ำตาลที่เกาะบนผิวฟัน และการทำความสะอาดฟันไม่ดีพอ ทำให้คราบอาหารเหล่านี้กลายเป็นอาหารของแบคทีเรีย แบคทีเรียที่มีอยู่ในช่องปากจึงเจริญเติบโตและเพิ่มจำนวนขึ้นแผ่กระจายไปบนผิวฟัน

แบคทีเรียพวกนี้เมื่อมีการบริโภคอาหารจำพวกแป้งและน้ำตาลเข้าไป จะปล่อยกรดและสารพิษออกมาเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาการอักเสบ ผลคือทำให้เหงือกบวมแดง อักเสบและมีเลือดออก ทำให้รู้สึกเจ็บเหงือกและอาจมีอาการปวด ถ้าปล่อยทิ้งไว้เหงือกและกระดูกเบ้าฟันจะถูกทำลายลงเรื่อยๆ จนในที่สุดก็อาจจะต้องสูญเสียฟันซี่นั้นไป เนื่องจากสูญเสียอวัยวะรอบฟันที่ช่วยในการยึดเกาะฟันไว้กับขากรรไกร

คราบเชื้อโรคเมื่อเกาะบนผิวฟันนานๆ กลายเป็นคราบหินปูน เมื่อมีคราบหินปูนก็เป็นที่สะสมของคราบเชื้อโรคมากยิ่งขึ้น เมื่อคราบหินปูนและแบคทีเรียสะสมมากขึ้นและนานขึ้น จะเพิ่มปริมาณลึกลงไปใต้ขอบเหงือก ทำให้การอักเสบลุกลามลงไปเรื่อยๆ

อาการของโรคปริทันต์ คือมีเลือดออกตามไรฟันขณะแปรงฟัน เหงือกบวมแดง มีกลิ่นปาก เหงือกร่น อาจมีหนองออกตามร่องเหงือกและฟันโยก

หากพบว่าเป็นโรคปริทันต์ หรือเหงือกอักเสบควรจะรีบทำการรักษาในทันทีที่มีการตรวจพบ เพราะหากปล่อยไว้จะทำให้การรักษายากยิ่งขึ้น

ขอบคุณข้อมูลจาก คุณปัณณพร : ไขข้อข้องใจสารพัดอาการปวด

ข้ออักเสบรูมาตอยด์

เป็นโรคเรื้อรังชนิดหนึ่งที่พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย โรคนี้เกิดจากการอักเสบเรื้อรังของเยื่อบุข้อทั่วร่างกาย และมีการอักเสบของพังผืดหุ้มข้อ เส้นเอ็น และกล้ามเนื้อรอบๆข้อ เชื่อว่าเป็นผลมาจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายมีการตอบสนองอย่างผิดปกติต่อเชื้อโรคหรือสารเคมีบางอย่างทำให้ภูมิต้านทานที่เกิดปฏิกิริยาต่อเนื้อเยื่อในบริเวณข้อของตัวเอง เรียกว่าภูมิแพ้ตัวเอง


อาการของโรคนี้เริ่มจากมีไข้ต่ำ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด เวลาอยู่ในอากาศเย็นๆก็จะปวดเมื่อยตามตัวและข้อต่างๆแล้วต่อมาจึงมีอาการอักเสบของข้อปรากฏให้เห็น บางคนอาจมีอาการของข้ออักเสบทันทีภายหลังได้รับ ถ้าเป็นรุนแรงและเรื้อรังอาจทำให้ข้อพิการผิดรูปผิดร่าง ใช้การไม่ได้ บางคนอาจมีการผุกร่อนของกระดูกด้วย


ขอบคุณข้อมูลจาก คุณปัณณพร:ไขข้อข้องใจสารพัดอาการปวด

11/15/2554

โรคน้ำกัดเท้า ภัยที่มากับน้ำท่วม

สถานการณ์น้ำท่วมในปัจจุบันส่งผลต่อปัญหาสุขภาพในหลายด้าน สำหรับคนที่ต้องลุยน้ำหรือย่ำน้ำสกปรกซึ่งอาจมีเชื้อโรคปะปนอยู่ มักเกิดโรคผิวหนังที่เรียกว่า “โรคน้ำกัดเท้า”

โรคน้ำกัดเท้าคืออะไร

โรคน้ำกัดเท้าเป็นโรคผิวหนังชนิดหนึ่ง มักพบในคนที่ต้องลุยน้ำและแช่น้ำเป็นเวลานาน บริเวณเท้าจึงมีความชื้นอยู่ตลอดเวลา ทำให้เกิดอาการเท้าเปื่อย ลอก คัน และแสบ และอาจมีโอกาสติดเชื้อแบคทีเรียและเชื้อราตามมาได้

อาการของโรคน้ำกัดเท้า

อาการของโรคน้ำกัดเท้าแบ่งออกเป็น 2 ระยะ ได้แก่
· ระยะแรก ผิวหนังบริเวณเท้าจะมีลักษณะเปื่อย แดง ลอกเนื่องจากการระคายเคือง โดยยังไม่มีการติดเชื้อ แต่หากมีอาการคันและเกาจนเกิดแผลถลอกก็มีโอกาสที่จะติดเชื้อได้ง่ายขึ้น

· ระยะที่สอง เป็นระยะที่ผิวหนังเปื่อยและลอกเป็นแผล ทำให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อรา โดยการติดเชื้อแบคทีเรียทำให้เกิดอาการอักเสบ บวมแดง เป็นหนอง และปวด ส่วนการติดเชื้อราจะทำให้มีอาการคัน ผิวเป็นขุยและลอกออกเป็นแผ่นสีขาว โดยเฉพาะตามซอกเท้า

การป้องกันคือหัวใจสำคัญของโรคน้ำกัดเท้า

ในช่วงเวลาที่น้ำท่วมในหลายๆ พื้นที่นี้ อาจเป็นการยากที่จะหลีกเลี่ยงการลุยน้ำ การป้องกันโรคน้ำกัดเท้าโดยการรักษาความสะอาดของเท้าและทำให้เท้ามีความชื้นน้อยที่สุดจึงเป็นเรื่องสำคัญ

· หลีกเลี่ยงความชื้น ไม่ใส่รองเท้าและถุงเท้าที่เปียกชื้นเป็นเวลานาน ควรซักถุงเท้าให้สะอาดและตากให้แห้งก่อนนำมาใช้ทุกครั้ง

· ป้องกันเมื่อลุยน้ำ สวมรองเท้าบูททุกครั้งที่ลุยน้ำ ถ้าระดับน้ำสูงเกินกว่าขอบรองเท้าให้ใช้ถุงดำครอบแล้วใช้หนังยางรัดไว้ หากน้ำเข้ารองเท้าให้หมั่นเทน้ำออกเป็นระยะๆ

· รักษาความสะอาด หลังจากลุยน้ำให้รีบล้างเท้าให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ เช็ดให้แห้งโดยเฉพาะบริเวณซอกเท้า และใช้แป้งฝุ่นโรยบริเวณเท้าและซอกเท้าเพื่อให้เท้าแห้งสนิท

· ดูแลแผล หากมีบาดแผลบริเวณเท้า เช็ดแผลด้วยแอลกอฮอล์ และใส่ยาฆ่าเชื้อ เช่น โพวิโดนไอโอดีน และหลีกเลี่ยงไม่ให้แผลสัมผัสกับน้ำสกปรกที่ท่วมขัง

รักษาโรคน้ำกัดเท้าให้ถูกวิธี

การรักษาโรคน้ำกัดเท้าจะพิจารณาตามระยะของโรค ดังนี้
· ระยะแรก ยังไม่จำเป็นต้องใช้ยาฆ่าเชื้อรา เนื่องจากยังไม่มีการติดเชื้อ อาจทายาสเตียรอยด์อ่อนๆ หรือยาขี้ผึ้งวิทฟิลด์ (Whitfield’s ointment) ทาบริเวณที่เป็นวันละ 3 ครั้งได้ แต่ยาขี้ผึ้งวิทฟิลด์อาจทำให้ระคายเคืองบริเวณที่ทา จึงควรหลีกเลี่ยงการทาในบริเวณที่มีแผลเปิด

· ระยะที่สอง การติดเชื้อแบคทีเรีย ถ้าเป็นการติดเชื้อที่ไม่รุนแรง ให้ทำความสะอาดบริเวณแผลด้วยน้ำเกลือ แอลกอฮอล์ และใส่ยาฆ่าเชื้อ เช่น โพวิโดนไอโอดีน แต่หากเป็นการติดเชื้อเรื้อรังและรุนแรง ควรรีบไปพบแพทย์

- การติดเชื้อรา สามารถเลือกใช้ยาทาต้านเชื้อราหรือยาขี้ผึ้งวิทฟิลด์ก็ได้ แต่การรักษาการติดเชื้อรามักใช้เวลานาน จึงควรใช้ยาอย่างต่อเนื่อง ไม่ควรหยุดใช้ยาเองแม้ว่าอาการจะดีขึ้นเพราะอาจมีโอกาสกลับเป็นซ้ำได้อีก โดยทั่วไปมักต้องทายาต่อเนื่องหลังจากอาการเป็นปกติแล้วอย่างน้อย 2-4 สัปดาห์ หากมีอาการรุนแรงควรไปพบแพทย์
ในช่วงเวลาเช่นนี้ นอกจากการดูแลสุขภาพตัวเองในด้านอื่นๆ แล้ว การดูแลเท้าของตัวเองก็เป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน หากสามารถรักษาความสะอาดของเท้าได้เป็นอย่างดี ก็สามารถป้องกันตัวเองจากโรคน้ำกัดเท้าได้ไม่ยาก
 
ขอบคุณข้อมูลจาก Scott Minteer:  www.bumrungrad.com

กลุ่มอาการขาอยู่ไม่สุข (Restless legs syndrome)

แม้ว่าจะไม่เคยมีการเก็บข้อมูลที่แน่ชัดว่าคนไทยมีอาการขาอยู่ไม่สุข (Restless legs syndrome) มากน้อยแค่ไหน แต่ก็สามารถพบได้เสมอโดยเฉพาะในกลุ่มคนที่ป่วยเป็นโรคหลายๆอย่าง อย่างไรก็ดี ผู้ป่วยกลับไม่ได้รับการวินิจฉัย จึงไม่ได้รับการรักษา จึงนำมาซึ่งความลำบากกายและทุกข์ใจของผู้ป่วยไม่น้อย ทั้งๆที่โรคนี้มีทางแก้


กลุ่มอาการขาอยู่ไม่สุขคืออะไร

โรคนี้เป็นโรคทางระบบประสาทที่มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Restless legs syndrome (RLS) หรือมีอีกชื่อหนึ่งว่า Ekbom’s syndrome ตามชื่อของแพทย์ที่รายงานเกี่ยวกับโรคนี้เมื่อปี ค.ศ.1945 ผู้ป่วยที่เป็นโรคหรือกลุ่มอาการนี้มักมีความรู้สึกไม่สบายที่ขาทั้ง 2 ข้าง โดยเฉพาะเมื่อนั่งหรือนอนพัก ทำให้ต้องขยับขาเพื่อบรรเทาอาการทางประสาทสัมผัสที่ผิดปกติดังกล่าว อาการทางประสาทสัมผัสที่ผิดปกตินี้มีได้หลายรูปแบบ เช่น รู้สึกเหมือนมีอะไรมาไต่ที่ขาหรือเท้า รู้สึกแสบ เป็นตะคริว คัน ปวดตื้อ ปวดแปลบ เหมือนไฟช็อต ยุบยิบ กล้ามเนื้อตึง ซึ่งมักเกิดซ้ำๆ เป็นช่วงสั้นๆตลอดช่วงเวลานั้น ผู้ป่วยจึงต้องขยับขาตลอด จนอยู่นิ่งไม่ได้และทำให้เดอาการนอนไม่หลับในที่สุด

แต่เป็นที่น่าแปลกใจคือ อาการเหล่านี้มักจะดีขึ้นเมื่อผู้ป่วยขยับแขนขา ร่างกาย ยืดกล้ามเนื้อ หรือออกเดินแต่เมื่อกลับมานั่งนิ่งๆหรือนอน อาการก็จะกลับมาอีก ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมีอาการมากในช่วงเย็นหรือค่ำ ส่งผลให้นอนหลับได้ยาก

กลุ่มเสี่ยงและสาเหตุของโรค

มีการประมาณว่าประชากรทั่วไปราวร้อยละ 10 จะเคยมีอาการเช่นนี้มาก่อน และมีผู้ป่วยที่มีอาการเรื้อรังจำนวนถึง 12 ล้านคนในประเทศสหรัฐอเมริกา แต่ส่วนใหญ่มักไม่ได้รับการวินิจฉัย ซึ่งน่าจะเกิดจากความรุนแรงของโรคนี้มีระดับแตกต่างกันมาก โรคนี้เกิดขึ้นได้กับทั้งเพศชายและเพศหญิง มักไม่พบสาเหตุที่ชัดเจน แต่ส่วนใหญ่จะเกิดในผู้ใหญ่ตั้งแต่อายุ 45 ปีขึ้นไป จนถึงผู้สูงอายุ โดยจะค่อยๆมีอาการเพิ่มขึ้นช้าๆ ผู้ป่วยกลุ่มนี้ร้อยละ 50 มีประวัติครอบครัวร่วมด้วย จึงเชื่อว่าโรคนี้มีความเกี่ยวข้องกับปัจจัยทางพันธุกรรม โดยอาจเกี่ยวข้องกับความผิดปกติของสารสื่อประสาทที่ชื่อว่า โดปามีน (dopamine )

ส่วนผู้ป่วยอีกกลุ่มจะพบสาเหตุจากโรคหรือภาวะทางกายต่างๆ เช่น

• หญิงมีครรภ์ จะเกิดอาการดังกล่าวได้ในช่วงไตรมาสสุดท้าย และอาการจะหายไปภายใน 1 เดือนหลังการคลอด

• ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ไตวาย เรื้อรัง โรคพาร์กินสัน เส้นประสาทเสื่อม ซึ่งหากโรคเดิมดีขึ้นอาการของโรคขาอยู่ไม่สุขก็จะดีขึ้นเองได้

• ผู้ป่วยที่มีภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก ผู้ป่วยที่มีอาการของโรคนี้จึงควรได้รับการตรวจนับเม็ดเลือด และความเข้มข้นของเม็ดเลือดแดง

• ผู้ป่วยที่ได้รับผลข้างเคียงจากยา เช่น ยาทางจิตเวช ยาแก้คลื่นไส้อาเจียน ยาต้านความเศร้า ยาลดความดันโลหิตบางชนิด ยาแก้แพ้

• การสูบบุหรี่ หรือดื่มสุรา


อาการหลักของโรค

• ความรู้สึกผิดปกติมักเกิดที่ขา น่อง หรือเท้าทั้ง 2 ข้าง โดยมีอาการหลากหลายดังกล่าวข้างต้น แต่จะมีความรุนแรงต่างกันในผู้ป่วยแต่ละราย

• อาการจะเกิดขณะที่พักหรืออยู่นิ่งๆ เช่น นั่งในรถหรือเครื่องบินเป็นเวลานาน นั่งชมภาพยนตร์หรือนอน และอาการจะดีขึ้นเมื่อได้ขยับขา ยืดขา ใช้ขาตบพื้น หรือออกเดิน

• อาการเหล่านี้มักแย่ลงในช่วงเย็นหรือกลางคืนโดยเฉพาะเมื่อเริ่มเข้านอน

• ขากระตุกเวลากลางคืน โรคนี้มักมีความสัมพันธ์กับการเคลื่อนไหวเป็นพักๆของแขนขาขณะหลับ (periodic limb movements of sleep) ทำให้เกิดอาการกระตุกของขา โดยที่ต้นขาจะงอเข้าและเหยียดออกขณะหลับ ผู้ป่วยเกิดการขยับโดยไม่รู้ตัวและเป็นได้ตลอดคืนโดยเฉพาะในผู้สูงอายุ

การวินิจฉัยโรค

ในรายที่ผู้ป่วยมีอาการข้างต้นและสงสัยว่าจะเป็นโรคนี้ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบถึงอาการต่างๆโดยละเอียด โดยเฉพาะหากมีผลต่อการนอนหลับ ผู้ป่วยควรบันทึกอาการที่เกิดขึ้นโดยละเอียดว่ามีความรู้สึกอย่างไร เมื่อไรและอาการดีขึ้นหรือแย่ลงได้อย่างไร รวมถึงควรแจ้งข้อมูลโรคเดิมที่เป็น ยาที่ใช้ประจำและยาที่ใช้รับประทานชั่วคราวในขณะนั้น เช่น ยาแก้หวัด ยาแก้ไอ อาหารเสริม นอกจากนี้อาจจะต้องสอบถามข้อมูลจากผู้ที่อาศัยในบ้านเดียวกันหรือคู่นอน เพื่อจะได้ทราบถึงพฤติกรรมของผู้ป่วยระหว่างที่นอนหลับด้วย

เมื่อมาพบแพทย์ แพทย์จะซักประวัติ ตรวจร่างกายและตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติม เพื่อหาสาเหตุของโรค โดยเฉพาะโรคทางกายที่เกิดร่วมกับโรคนี้ เช่น โลหิตจาง ไตวาย แล้วให้การวินิจฉัยโรคนี้ตามเกณฑ์มาตรฐาน ก่อนจะให้การรักษาและติดตามต่อไป

การรักษา

การรักษาทั่วไป ในผู้ป่วยที่มีอาการไม่มาก แพทย์จะใช้การรักษาทั่วไปเพื่อบรรเทาหรือป้องกันอาการในช่วงกลางคืน รวมถึงแนะนำให้ผู้ป่วยปฏิบัติตัวดังต่อไปนี้

1. หลีกเลี่ยงหรืองดการบริโภคสุรา บุหรี่ และอาหารที่มีกาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ น้ำอัดลม โดยเฉพาะช่วงเย็นและค่ำ รวมถึงให้รับประทานอาหารในสัดส่วนที่เหมาะสม

2. มีสุขนิสัยการนอนที่ดี เช่น เข้านอนและตื่นนอนตรงเวลาทุกวัน หลีกเลี่ยงการงีบหลับ โดยเฉพาะในช่วงเย็น

3. ออกกำลังกายแบบแอโรบิกระดับปานกลาง 3 ครั้ง/สัปดาห์ในช่วงเวลากลางวัน หรือขยับร่างกายด้วยการยืนและเดินเป็นระยะในระหว่างที่นั่งนานๆ เพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อ และทำให้นอนหลับได้ดีขึ้น

4. ใช้เทคนิคการผ่อนคลายก่อนนอน เช่น อาบน้ำอุ่น นวดขาและเท้า ประคบร้อน/เย็น

5. เบี่ยงเบนความสนใจจากอาการของโรคโดยการอ่านหนังสือ ดูโทรทัศน์หรือทำสมาธิ


การรักษาด้วยยา

ในผู้ที่มีอาการน้อยหรือชั่วคราว การรักษาโดยการปฏิบัติตัวทั่วไปมักได้ผลดีจึงควรใช้ยาเมื่อจำเป็นเท่านั้น สำหรับในรายที่มีภาวะโลหิตจางควรได้รับธาตุเหล็ก กรดโฟลิก แมกนีเซียม และวิตามินเสริมตามความเหมาะสมและให้การรักษาโรคทางกายที่เป็นอยู่เดิมควบคู่กันไป

สำหรับยาที่แพทย์มักใช้บ่อยก็คือ

1. ยากลุ่มที่มีฤทธิ์เสริมการทำงานของระบบสารโดปามีน ซึ่งปกติใช้รักษาโรคพาร์กินสัน โดยเฉพาะการใช้ยาที่จับตัวรับโดปามีนโดยตรง (dopamine agonist) จะได้ผลดีมาก ตัวอย่างเช่น ropinirole และ pramipexole ที่ออกฤทธิ์ได้นาน จึงมักให้ยานี้ในขนาดต่ำๆ ก่อนนอน และปรับขนาดขึ้นช้าๆ เมื่อจำเป็น ส่วนยาในกลุ่มที่ช่วยสร้างโดปามีน เช่น levodopa มักได้ผลดีในช่วงแรกแต่ผู้ป่วยจะดื้อยาได้เร็ว คือจะทำให้อาการของโรคเกิดเร็วขึ้นกว่าเวลาเดิม เช่น มีอาการตั้งแต่ช่วงบ่าย-เย็นแทนที่จะเป็นเวลานอน จึงเป็นยาที่ไม่ได้รับความนิยม

2. ยากลุ่มเบนโซไดอะซีพีน ที่มีฤทธิ์คลายกังวล ลดกล้ามเนื้อกระตุกและช่วยนอนหลับ เช่น clonazepam, diazepam จะใช้ในรายที่มีอาการไม่มากและเป็นครั้งคราว มักมีผลข้างเคียงด้านง่วงซึมเวลากลางวันได้บ่อย จึงไม่ควรใช้ในระยะยาว

3. ยาแก้ปวดบางชนิด เช่น โคเดอีนในขนาดต่ำๆ แต่สารนี้ถูกจัดอยู่ในกลุ่มเป็นวัตถุเสพติด

4. ยาอื่นๆ เช่นยากันชัก หรือยานอนหลับบางชนิด

การพยากรณ์โรค

โดยทั่วไปโรคนี้ไม่มีอันตรายแต่จะก่อให้เกิดความรำคาญมากกว่า ทำให้นอนไม่หลับ หงุดหงิด ง่วงซึมในเวลากลางวันและอาจเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย ในกลุ่มผู้ป่วยที่ไม่มีโรคทางกายอย่างอื่นมักไม่พบสาเหตุชัดเจน ผู้ป่วยมักมีอาการเป็นๆหายๆตลอดชีวิต แต่จะมีระดับความรุนแรงแตกต่างกันในแต่ละช่วง ผู้ป่วยจึงควรปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันอาการในระยะยาว และใช้ยาในช่วงที่มีอาการมากเพื่อให้นอนหลับได้ตามปกติ และอาจพิจารณาหยุดยาได้หากมีอาการดีขึ้น

ข้อมูลงานวิจัยและแนวโน้มในอนาคต

ปัจจุบันมีงานวิจัยจำนวนมากในด้านการทำงานของระบบสารสื่อประสาทโดปามีนหรือความผิดปกติทางพันธุกรรมในโรคนี้ รวมถึงมีความพยายามในการสร้างแบบจำลองของโรคในสัตว์ทดลองเพื่อทดสอบสมมติฐานที่เกี่ยวข้อง ในขณะเดียวกันก็ยังมีการศึกษาวิจัยยาต่างๆเพื่อบรรเทาอาการของผู้ป่วยโดยเฉพาะในรายที่ใช้ยามาตรฐานไม่ได้ผล จึงเชื่อว่าการดูแลรักษาโรคนี้จะได้ผลมากยิ่งขึ้นในอนาคต

ข้อมูลจาก รศ.นพ.ก้องเกียรติ กูณฑ์กันทรากร อายุรแพทย์ด้านประสาทวิทยา: HealthToday

10/01/2554

งูสวัด

โรคงูสวัดเกิดในผู้ที่เคยเป็นอีสุกอีใสมาแล้ว โดยการติดเชื้อไวรัสตัวนี้ครั้งแรกมักเป็นในช่วงเด็ก เรียกว่าโรคอีสุกอีใส โดยในช่วงที่ไวรัสแพร่กระจาย ไวรัสจะฝังตัวอยู่ในไขสันหลัง ซึ่งมักเป็นที่เส้นประสาทรับความรู้สึก โดยไวรัสจะอยู่ในระยะสงบได้นานหลายปี แต่ถ้าต่อมาไวรัสถูกกระตุ้นและเจริญเติบโตตามเส้นประสาทเส้นที่มันฝังตัวมาสู่ผิวหนัง ก็จะทำให้เกิดงูสวัดขึ้น ส่วนใหญ่มักพบงูสวัดในผู้ใหญ่โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ งูสวัดเป็นโรคที่ติดต่อได้ แต่ผู้ที่ได้รับเชื้อจะแสดงอาการของการเป็นอีสุกอีใส (เพราะงูสวัดเกิดจากเชื้อในตัวเองของผู้เคยเป็นอีสุกอีใสมาก่อน)


สำหรับอาการของงูสวัดที่พบบ่อยคืออาการปวด ซึ่งอาจรุนแรงมาก และอาจเป็นเพียงจุดเดียว หรือปวดร้าวไปตามแนวเส้นประสาท นอกจากนี้ผู้ป่วยมักรู้สึกไม่สบาย ครั่นเนื้อครั่นตัว มีไข้ และปวดศีรษะ ภายใน 1-3 วัน หลังเริ่มมีอาการปวดจะพบตุ่มน้ำใสตามตำแหน่งผิวหนังที่มีอาการเจ็บนำมาก่อน ตุ่มน้ำมักอยู่เป็นหย่อมๆ บนผิวหนังที่อักเสบแดง หย่อมของรอยโรคมักเรียงตัวตามแนวเส้นประสาท ซึ่งมักเป็นเพียงเส้นเดียว ลักษณะที่พบหย่อมตุ่มน้ำบนผิวหนังที่อักเสบแดงและมีอาการปวดมากจึงเรียกว่า “แถบหรือเข็มขัดดอกกุหลาบจากนรก” หรือ “the band (belt) of roses from hell” ซึ่งต่อมาจะกลายเป็นตุ่มหนอง แตกออก และตกสะเก็ด งูสวัดพบได้บ่อยที่บริเวณหน้าอก ลำคอ หน้าผาก และก้น/ก้นกบ ซึ่งหลังจากรักษาหายแล้ว ผู้ป่วยมักมีอาการปวดหลังจากเป็นงูสวัดได้ โดยมักจะพบอาการปวดเพิ่มขึ้นตามอายุ และถ้าเป็นงูสวัดที่ใบหน้ามักมีอาการปวดตามมาสูงขึ้น โดยอาการปวดหลังจากเป็นงูสวัดนี้จะรักษาได้ค่อนข้างยาก แต่ก็มีการใช้ยาลดอาการปวด เช่น ยาชาชนิดทา ยาทาสารสกัดจากพริก (capsaicin) ยารับประทาน เช่น กลุ่มต้านโรคซึมเศร้า กลุ่มต้านโรคลมชัก การฝังเข็ม และการฉีดสารพิษโบทูลินั่มตรงตำแหน่งที่ปวด

ในปัจจุบันมียาต้านไวรัสทีช่วยลดอาการของงูสวัดลงได้มาก โดยพบว่ายาน้ำสมุนไพรเสลดพังพอนช่วยลดอาการปวดแสบปวดร้อน และทำให้แผลแห้งเร็วขึ้น สำหรับผู้ป่วยที่เป็นงูสวัดที่ใบหน้ารวมถึงกลุ่มผู้ป่วยที่มีภูมิต้านทานต่ำและกลุ่มผู้สูงอายุแนะนำให้ใช้ยาต้านไวรัสชนิดรับประทาน

ขอบคุณข้อมูลจาก นพ.ประวัตร พิศาลบุตร อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคผิวหนัง: HealthToday

ปอดบวม โรคภัยที่มากับหน้าฝน

โรคปอดบวมเกิดจากการติดเชื้อได้หลายชนิด ทั้งแบคทีเรีย ไวรัส แต่ส่วนใหญ่มักเกิดจากการติดเชื้อจากไข้หวัดใหญ่ ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูง หายใจหอบ เจ็บหน้าอก มีเสมหะ ไอ อาการจะเกิดต่อเนื่องจาการเป็นไข้หวัด การป้องกันในสภาวะอาการแปรปรวนแบบนี้ คือ การรักษาร่างกายให้อบอุ่น พักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงสถานที่แออัด ไม่ใช้สิ่งของร่วมกับผู้ป่วย ที่สำคัญหากมีไข้สูง มีอาการเจ็บหน้าอกร่วมด้วย มีอาการไข้ไม่ต่ำกว่า 3 วัน ควรเข้าพบคุณหมอเพื่อตรวจวินิจฉัยแบบไม่ต้องรอวินิจฉัยเอง เพราะหากรักษาช้าหรือได้รับยาไม่ถูกต้อง อาจเกิดภาวะโรคแทรกซ้อน เช่น ปอดแฟบ ,ฝีในปอด ฯลฯ ยิ่งช่วงนี้อากาศแปรปรวน ระวังสุขภาพกันด้วยนะคะ

8/21/2554

ทารกคลอดก่อนกำหนด เสี่ยงสมาธิสั้น

วารสารทางกุมารเวชศาสต์ (Pediatrics) เผยว่า ทารกที่คลอดก่อนกำหนดตั้งแต่ 3 สัปดาห์ขึ้นไปเสี่ยงต่อการเป็นโรคสมาธิสั้น (ADHD) โดยยิ่งทารกคลอดก่อนกำหนดเป็นเวลามากขึ้นเท่าไร ก็เสี่ยงต่อโรคสมาธิสั้นมากขึ้นเท่านั้น

ปัจจุบันมีเด็กและผู้ใหญ่ในอเมริกาประมาณ 3-5% ที่เป็นโรคสมาธิสั้น ซึ่งมีอาการไม่มีสมาธิจดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้นาน อยู่ไม่สุก หุนหันพลันแล่น

นักวิจัยชาวสวีเดนได้ศึกษาเด็กๆ กว่าหนึ่งล้านคนที่เกิดระหว่างปี 1987 และปี 2000 โดยพบว่าเด็กจำนวน 7,506 คน อายุระหว่าง 6 ถึง 19 ปี ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคสมาธิสั้น และผลวิจัยชี้ว่าเด็กที่คลอดก่อนกำหนดเสี่ยงต่อการเป็นโรคสมาธิสั้น โดยเด็กที่อยู่ในครรภ์ 37-38 สัปดาห์ จะเสี่ยงเป็นโรคสมาธิสั้นมากกว่าเด็กปกติ 10-20% และความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ถึง 60% ในเด็กที่อยู่ในครรภ์ 23-28 สัปดาห์

ดังนั้นเพื่อลดความเสี่ยงโรคสมาธิสั้น นักวิจัยแนะว่า ถ้าเป็นไปได้ควรวางแผนคลอดทารกในอายุครรภ์ 40 สัปดาห์จะดีที่สุดค่ะ

ข้อมูลจาก Mother&Care

เคล็ดลับ เลือกแว่นกันแดดเด็ก

ในเด็กเล็กอาจมีโอกาสเล่นซุกซนจนทำให้แว่นตาเสียหายได้ จึงควรเลือกแว่นตาที่ใช้เลนส์พลาสติก ส่วนกรอบควรเลือกที่คุณภาพ ราคาเหมาะสม ขนาดเท่ากับตาลูก หรือถ้าอยากให้ลูกใส่แว่นที่ดูมีสีสันควรเลือกโทนสีเทา น้ำตาลหรือเขียว เพื่อให้มองเห็นสีได้เป็นธรรมชาติ ไม่ผิดเพี้ยน อย่าเลือกสีแดง น้ำเงิน เพราะอาจทำให้แสงความยาวคลื่นที่อันตรายผ่านเข้าดวงตาได้ ส่วนรูปทรงของแว่นควรเลือกให้เข้ากับใบหน้าลูก เช่น ถ้าใบหน้ารูปสามเหลี่ยมควรใช้กรอบแว่นทรงกลมหรือทรงรี ใบหน้ากลมควรใช้แว่นทรงรีหรือทรงสี่เหลี่ยน หรืออื่นๆเป็นต้น

ข้อมูลจาก Mother&Care

8/03/2554

ไวรัสตับอักเสบ B ตรวจง่าย รักษาได้ทันท่วงที

ไวรัสตับอักเสบ ภัยเงียบที่เรื่อยๆมาเรียงๆ ไม่แสดงอาการปรากฏ ผู้ติดเชื้อมักไม่มีอาการเตือนใดๆ จึงไม่ทราบว่าตนเองมีเชื้อ ซึ่งหากพบอีกทีเชื้อไวรัสอาจจะพาลเข้าสู่ตับไปแล้วก็ได้ค่ะ


ส่วนใหญ่แล้วอาการของผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี มักปรากฏอาการตอนที่โรคเข้าสู่ระยะลุกลาม ขั้นตับถูกทำลายไม่สามารถรักษาได้ ผู้ป่วยในเมืองไทยมีเพียง 30% เท่านั้นที่ทราบว่าตนเองมีเชื้อ ส่วนในสถานการณ์โลกนั้นประชากรถึง 1 ใน 3 เคยติดเชื้อในช่วยหนึ่งของชีวิต และในจำนวนนั้นมีถึง 350 ล้านคนที่เป็นชนิดเรื้อรัง (ติดนานเกิน 6 เดือน) โดยที่ภูมิต้านทานของร่างกายไม่สามารถขจัดออกไปได้ มีอัตราการตายทั่วโลกถึง 1 ล้านคน/ปี และในประเทศไทยมีคนติดเชื้อมากถึงร้อยละ 5/ปี (ราว 3.5ล้านคนทั่วประเทศ) จากสถิติปี 2552 พบว่าคนที่เสียชีวิตด้วยมะเร็งตับ 25,000 คนนั้นพัฒนาจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีถึง 70% รศ.นพ.ธีระ พัรัชวิสุทธิ์ นายกสมาคมโรคตับ(ประเทศไทย)กล่าว

ซึ่งกลุ่มเสี่ยงจะอยู่ในผู้ที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไป จึงควรไปตรวจคัดกรอง เพราะการตรวจไม่ได้ใช้เวลานานอย่างที่คิด เพียง 15 นาทีเท่านั้น ด้วยการเจาะเลือด (HBsAg Positive) ซึ่งการตรวจวิธีนี้อาจต้องตามดูผลอีกครั้ง เพราะเชื้ออาจหายไปได้เอง แต่ถ้าผ่านมาแล้ว 6 เดือนยังตรวจพบเชื้อ อาจอยู่ในกลุ่มพาหะเรื้อรัง และถ้าต้องการตรวจละเอียดเพื่อประเมินระยะความรุนแรงและภาวะแทรกซ้อน สามารถตรวจ HBeAg และanti-HBe เพื่อดูการแบ่งตัวหรือการกลายพันธุ์ของเชื้อ ตรวจหาปริมาณเชื้อไวรัส (HBV DNA) เพื่อประกอบการรักษา ตรวจชิ้นเนื้อตับเพื่อบอกความรุนแรงของการอักเสบ และมะเร็งตับด้วยการตรวจอัลฟาฟีโตโปรตีน (AFP) ร่วมกับการอัลตราซาวนด์ เมื่อรู้ว่าตนเองอยู่ในกลุ่มเสี่ยงมีประวัติคนในครอบครัวเคยเป็น หรือมีอายุถึงเกณฑ์เสี่ยงก็มาตรวจ

จากมูลจาก Cosmopolitan –งาน Get Tested-Get Treated ไวรัสตับอักเสบบี ตรวจง่าย รักษาได้ทันท่วงที

เพิ่มสารอาหาร 13 ชนิด เพื่อลูกวัยเตาะแตะ


ลูกวัย 1-3 ปีมีความต้องการสารอาหารเพื่อการเจริญเติบโตของร่างกายและสมองหลายชนิด สารอาหารที่สำคัญมีดังนี้ค่ะ

วิตามินเอ ช่วยบำรุงสายตา รักษาสุขภาพผิว ช่วยให้เส้นผม เหงือกแข็งแรง ส่งเสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน พบในผักผลไม้สีเหลือง ส้ม แดง เขียว เช่น ฟังทอง มะละกอ มะเขือเทศ แครอท ตำลึง ผักโขม

วิตามินดี ช่วยดูดซึมแคลเซียมและฟอสฟอรัส ช่วยสร้างกระดูกและฟัน ช่วยให้เติบโตได้ดี ร่างกายสร้างวิตามินดีได้เมื่อผิวได้รับแสงแดดอ่อนๆ ถ้าไม่ถูกแสงแดดควรได้รับจากสารอาหาร เช่น น้ำมันตับปลา นม เนย ตับ ปลา ไข่แดง

วิตามินซี ช่วยดูดซึมธาตุเหล็ก สร้างคอลลาเจนช่วยเชื่อมเนื้อเยื่อต่างๆ ทำให้เหงือก ฟัน กระดูก ผิวแข็งแรง ป้องกันเลือดออกตามไรฟัน พบมากในหน่อไม้ฝรั่ง พริกหวาน บร๊อกโคลี กะหล่ำปลี แคนตาลูป ผลไม้รสเปรี้ยว

วิตามินบี 1 จำเป็นต่อการทำงานของระบบประสาท ระบบหายใจ หัวใจ กล้ามเนื้อ ช่วยให้เจริญอาหาร ช่วยในการเติบโต ร่างกายไม่อาจสังเคราะห์ได้ต้องกินจากอาหาร เช่น เนื้อหมู ข้าวกล้อง ถั่ว งา ธัญพืช ไข่ นม ตับ

วิตามินบี 2 ช่วยในการเจริญเติบโต เมื่อขาดร่างกายจะแคระแกร็น ช่วยในการเผาผลาญอาหารอย่างแป้งและไขมัน ช่วยบำรุงประสาทและสายตา ทำให้ลูกเติบโตดี พบมากในนม เนย ไข่ ยีสต์ เนื้อสัตว์ ตับ ผักใบเขียว

วิตามินบี 12 ช่วยสร้างเม็ดเลือดแดง ช่วยในการเติบโตและเจริญอาหาร ช่วยให้ระบบประสาททำงานได้ดี ช่วยให้สมองมีความจำดี มีสมาธิดี พบมากในตับ เนื้อสัตว์ ไข่แดง นม เนย กะปิ น้ำปลา เต้าเจี้ยว

แคลเซียม จำเป็นต่อการสร้างและรักษากระดูกและฟันให้แข็งแรง ช่วยให้ระบบประสาทและกล้ามเนื้อทำงานได้ดี ช่วยให้เลือดแข็งตัวดี พบในนม ปลาตัวเล็กตัวน้อยที่กินได้ทั้งก้าง ถั่ว กุ้งแห้ง คะน้า เต้าหู้

ฟอสฟอรัส ช่วยในกระบวนการเผาผลาญอาหารให้ร่างกายนำแคลเซียมไปเพิ่มความแข็งแรงของกระดูกและฟัน พบในเนื้อสัตว์ เครื่องในสัตว์ ปลาทูสด ปู นมไข่แดง ผักและผลไม้ เช่น เมล็ดทานตะวัน งา

เหล็ก เป็นส่วนประกอบของฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดง ซึ่งทำหน้าที่นำออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่างๆ มีความสำคัญต่อการพัฒนาสมอง ทำให้สมองจดจำดี พบมากในเนื้อแดง เครื่องในสัตว์ ตับ เลือดหมู ถั่ว ผักใบเขียว

สังกะสี กระบวนการทำงานเกือบทุกระบบในร่างกายล้วนต้องการสังกะสีเป็นส่วนประกอบ สังกะสีจึงเป็นแร่ธาตุที่ร่างการต้องการ ซึ่งต้องได้รับจากอาหารที่มีสังกะสี เช่น เนื้อสัตว์ ไข่แดง นม ธัญพืช ถั่ว

ไอโอดีน จำเป็นต่อการสร้างฮอร์โมนของต่อมไทรอยด์ที่เข้าสู่กระแสเลือด ทำหน้าที่ควบคุมอวัยวะต่างๆ ของร่างกายให้ทำงาน พัฒนาระบบสมองและประสาท พบในเกลือหรือผลิตภัณฑ์ที่เสริมไอโอดีน อาหารทะเล

กรดไขมัน เนื้อสมองประมาณ 60% ประกอบด้วยกรดไขมันไม่อิ่มตัวหรือดีเอชเอ ซึ่งมีความสำคัญต่อ การพัฒนาสมองและสายตา ซึ่งร่างกายควรได้รับจากอาหาร เช่น ปลาทูน่า ปลาแซลมอน สาหร่ายทะเล และนม



ข้อมูลจาก Mother&Care

6/13/2554

ผู้ใหญ่สมาธิสั้น

คุณเป็นแบบนี้หรือเปล่า?

- ขับรถหลงทาง โดยเฉพาะลงทางด่วนผิดบ่อย

- เมื่อมีการประชุม คุณมักจะนำออกนอกประเด็น จำข้อมูลผิด มองข้ามเนื้อหาหลักที่ประชุมกันอยู่

- ขณะทำกิจกรรมกับคนหมู่มากที่ต้องนั่งนานๆ เช่น การเรียนหนังสือ การดูคอนเสิร์ต คุณมักต้องเปลี่ยนที่นั่งอยู่บ่อยครั้งเพราะรู้สึกไม่สบาย

- เขินอายบ่อยๆ เมื่อสนทนากับผู้อื่นเพราะไม่ได้ใส่ใจคำพูดของอีกฝ่ายหนึ่ง

- ลืมของใช้ส่วนตัวไว้ตามสถานที่ต่างๆ เป็นต้น

หากสิ่งที่กล่าวมาข้างต้นเกิดขึ้นกับคุณบ่อยครั้ง นอกจากจะส่งผลกระทบโดยตรงกับคุณ ยังทำให้ความสัมพันธ์กับบุคคลรอบข้างไม่ว่าจะเป็นคนในครอบครัวหรือเพื่อนร่วมงานแย่ลงไปด้วย นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่อการทำงานและการใช้ชีวิตประจำวันของคุณโดยตรง ทำให้การทำงานไม่สำเร็จตามวัตถุประสงค์ ซึ่งส่งผลกระทบให้

- บางคนถูกมองว่าเป็นคนขาดความรับผิดชอบและผัดวันประกันพรุ่ง

- หัวหน้ามักต่อว่าเกี่ยวกับการทำงานว่าไม่มีประสิทธิภาพ

- เป็นผู้บริหารร้อยโครงการ คิดเร็ว เปลี่ยนแปลงเร็ว มีอารมณ์หงุดหงิดง่าย

- เป็นคนใจร้อน ไม่สามารถรอคอย เช่น การยืนต่อแถวยาวๆ ได้

- อ่านหนังสือมักผิดพลาด มักสะกดคำหรือคิดเลขผิดบ่อยๆ

- บางคนอาจมีอาการทำอะไรเชื่องช้าไปทุกอย่าง


ทั้งหมดที่กล่าวมานี้เป็นแค่ส่วนหนึ่งของโรคสมาธิสั้น อาการของโรคสมาธิสั้นจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ ส่วนการรักษาโรคสมาธิสั้นให้ได้ผลดีนั้นต้องเริ่มตั้งแต่วัยเด็กเล็กโดยเฉพาะเด็กก่อนวัยเรียนถึงวัยรุ่นตอนปลาย ทำได้โดยการสังเกตพฤติกรรม โดยที่พ่อแม่หรือครูจะเป็นคนที่สามารถสังเกตเห็นว่าเด็กซนอยู่ไม่นิ่งและมีผลการเรียนที่แย่ลง

อย่างไรก็ดีผู้ใหญ่ที่เป็นโรคสมาธิสั้นหากได้รับการวินิจฉัยที่เร็วและได้รับการรักษาก็จะทำให้ผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้ใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้ไม่ยากลำบาก

ผู้ใหญ่ป่วยเป็นโรคสมาธิสั้นมากน้อยแค่ไหน

มีผู้กล่าวไว้ว่า ผู้ใหญ่ที่มีอาการสมาธิสั้นเริ่มต้นมาจากเด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้นมาก่อน โดยมีความชุกอยู่ที่ 1-2% ซึ่งพบว่าครึ่งหนึ่งของเด็กสมาธิสั้นมักมีอาการอยู่ไม่นิ่งจนกระทั่งโตเป็นผู้ใหญ่แล้วอาการก็ยังคงปรากฎอยู่ถึง 30-80%


รู้ได้อย่างไรว่าป่วยเป็นโรคสมาธิสั้น

แพทย์จะทำการวินิจฉัยว่าผู้ป่วยเป็นโรคสมาธิสั้นหรือไม่จากหลักเกณฑ์ดังนี้

1. DSM-IV และ ICD-10 ที่ใช้วินิจฉัยสมาธิสั้นในเด็กนั้น ต้องใช้การสังเกตอาการแสดงออก พฤติกรรมและการซักประวัติโดยแพทย์ ซึ่งประวัติจะได้จากพ่อแม่และครูตั้งแต่เด็กก่อนวัยเรียน อย่างไรก็ดีอาการที่เห็นได้ชัดเจนและทำให้คิดถึงโรคสมาธิสั้นมากขึ้น เช่น ความไม่เอาใจใส่ อาการหุนหันพลันแล่น ความไม่รอบคอบและการขาดสมาธิ เป็นต้น

2. เกณฑ์มาตรฐานยูท่า Paul Wender และทีมงานได้พัฒนาเกณฑ์การวินิจฉัยโรคสมาธิ สั้นเพื่อ เป็นประโยชน์ในการวางแผนการรักษาโรคสมาธิสั้นในผู้ใหญ่ โดยเกณฑ์นี้ได้มาจากการซักประวัติอาการแสดงของโรคสมาธิสั้นในเด็กและในผู้ใหญ่ ซึ่งโดยสรุปแล้วจะต้องพบลักษณะอาการแสดง 2 อาการดังต่อไปนี้

1) ความไวของกล้ามเนื้อต่อสิ่งกระตุ้นและความวิตกกังวลภายในใจ (hyperacitivity)

• ไม่สามารถผ่อนคลายและทำกิจกรรมที่อยู่กับที่ได้นานๆ เช่น การนั่งอ่านหนังสือหรือการดูโทรทัศน์

• มีอาการวิตกกังวลและความรู้สึกกังวลที่มีอยู่ในใจซึ่งไม่สามารถแสดงออกมาอย่างชัดเจนได้

2) การขาดความเอาใจใส่ (inattention) เช่น การไม่สนใจผู้ร่วมสนทนา การอ่านหนังสือแต่จับใจความไม่ได้ เป็นต้น และสิ่งที่เห็นได้ชัด ในชีวิตประจำวัน คือ มักขี้ลืม วางของผิดที่เสมอๆ นอกจากนี้ยังพบ อาการได้อย่างน้อยสองข้อ ได้แก่

• ความบกพร่องทางอารมณ์ มีอารมณ์แปรปรวนต่อกันหลายชั่วโมงในหลายวัน มีความรู้สึกเบื่อหน่ายและไม่พอใจอย่างไม่มีเหตุผล

• การทำงานไม่ประสบความสำเร็จ เช่น ขาดระเบียบวินัย ไม่สามารถแก้ไขปัญหาหรือจัดการเรื่องเวลาได้ และไม่สามารถจดจ่อกับหน้าที่นานๆ ได้

• มีปัญหาทางด้านอารมณ์ มักจะโมโหง่ายและระเบิดออกมา

• อารมณ์หุนหันพลันแล่น มักตอบสนองต่อสิ่งต่างๆ อย่างรวดเร็วและเปลี่ยนแปลงทันที มีพฤติกรรมต่อต้านความคิดและขาดความคิดไตร่ตรองอย่างรอบคอบ

• มีความอดทนอดกลั้นต่ำและไม่สามารถทนต่อความเครียดหรือแรงกดดันได้ รู้สึกวิตกกังวล สับสน หรือรู้สึกโกรธที่ไม่สามารถจัดการกับปัญหาและต้องเผชิญกับสิ่งที่เข้ามากระตุ้นในแต่ละวัน


ความผิดปกติอื่นๆ ที่อาจเกิดร่วมกันได้กับผู้ใหญ่ที่เป็นโรคสมาธิสั้น

Shokin และทีมงานได้สำรวจผู้ใหญ่อายุ 19-65 ปี จำนวน 56 คนพบว่า ผู้ใหญ่สมาธิสั้น มีความวิตกกังวลมากที่สุดถึง 53% และหันไปติดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และติดยาเสพติดถึง 34% และ 30% ตามลำดับ นอกจากนี้ยังมีอารมณ์เก็บกดและรู้สึกหดหู่เท่าๆ กับอารมณ์ตื่นเต้นสลับกับอารมณ์ซึมเศร้าถึง 25% แต่จากผลการสำรวจก็พบว่ามี 14% เป็นโรคสมาธิสั้นอย่างเดียวโดยไม่มีโรคร่วมอื่นๆ แต่อย่างไรก้ดีการวินิจฉัยโรคสมาธิสั้นในผู้ใหญ่ต้องประเมินด้วยความระมัดระวังและต้องประเมินโดยจิตแพทย์เท่านั้น

ในการประเมินโรค แพทย์จะใช้การซักประวัติจากผู้ป่วยและญาติ โดยใช้คำถามเจาะลึก ตัวอย่างคำถามเช่น “เมื่อเป็นเด็ก อาการเริ่มเมื่อใด” โรคสมาธิสั้นในเด็กมักแสดงอาการเมื่ออายุน้อยกว่า 7 ปี

“มีระดับความรุนแรงของโรคมากน้อยแค่ไหน” “บ่อยแค่ไหนที่ไม่สามารถรับมือกับโรคหรือควบคุมพฤติกรรมได้” เกิดขึ้นอย่างน้อยสองสถานการณ์ในสถานที่อันได้แก่ บ้าน โรงเรียน สนามเด็กเล่น หรือที่ทำงาน “ประวัติครอบครัวว่ามีใครที่เป็นโรคสมาธิสั้นหรือไม่”

“การตรวจระดับสติปัญญา (IQ)” ซึ่งจะพบว่ามีระดับสติปัญญาปกติ การสังเกตและการบันทึกพฤติกรรมอย่างต่อเนื่องจะช่วยให้การประเมินความรุนแรงของโรคและการวางแผนการรักษาทำหด้ดีมากยิ่งขึ้น

ผลกระทบของสมาธิสั้นต่อชีวิตของผู้ป่วย

• ในวัยเด็กถึงวัยรุ่นตอนปลาย จะมีปัญหาการขาดความเอาใจใส่ต่อการเรียน

• ส่วนในวัยผู้ใหญ่ก็จะมีผลต่อการทำงาน การดำรงชีวิตประจำวัน และความสัมพันธ์กับบุคคลอื่นๆ

ผู้ใหญ่ที่เป็นโรคสมาธิสั้นจะถูกเบี่ยงเบนความสนใจได้ง่าย ชอบออกนอกเรื่องและมองข้ามในรายละเอียด การพูดโพล่งเมื่อฟังคำถามยังไม่จบ ไม่รู้จักการรอคอย และการทำอะไรรุนแรงก้าวร้าวต่อตนเองหรือบุคคลอื่น สิ่งเหล่านี้ย่อมส่งผลให้ผู้ที่เป็นโรคสมาธิสั้นไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม ซึ่งจะส่งผลให้กลายเป็นคนขาดความเชื่อมั่นในตนเอง ไม่ประสบความสำเร็จในงาน และมักเก็บตัวจนกลายเป็นผู้ที่มีโรคซึมเศร้า จนเกิดความรู้สึกอยากฆ่าตัวตายในที่สุด แต่การช่วยเหลือสามารถทำได้ถ้าพบภาวะสมาธิสั้นตั้งแต่เด็ก การรักษาต้องทำอย่างต่อเนื่องและอาศัยการร่วมมือจากหลายฝ่าย กล่าวโดยสรุปคือ สมาธิสั้นสามารถรักษาได้


ข้อมูลจาก คุณวงเดือน เดชะรินทร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาปฐมวัย HealthToday

6/09/2554

ประโยชน์จากชาเขียว

ชาเขียว เป็นชาที่ผ่านกระบวนการบ่มน้อยกว่าชาดำ และมีรสนุ่มนวลแตกต่างออกไป แต่นอกเหนือจากรสที่น่าลิ้มลองแล้ว ยังเป็นแหล่งที่ยอดเยี่ยมของพอลิฟีนอล สารที่มีความเป็นไปได้สูงว่าจะเป็นสารต้านมะเร็งที่ทรงประสิทธิภาพ ผู้ที่ดื่มชาเขียวเป็นประจำมีอัตราการเป็นมะเร็ง กระเพาะอาหาร มะเร็งปอด มะเร็งตับอ่อน และมะเร็งลำไส้ใหญ่ต่ำกว่าผู้ที่ไม่ดื่ม


พอลิฟีนอล ในชาเขียวกระตุ้นการสร้างสารต้านอนุมูลอิสระที่สำคัญ และเอนไซม์ที่ต่อต้านการเกิดมะเร็ง ชาเขียวยังช่วยรักษาผิวที่ถูกแสงแดดทำลาย จึงเป็นสารที่พบว่าเป็นส่วนประกอบในครีมหลายยี่ห้อ ยิ่งไปกว่านั้นยังช่วยป้องกันการเกิดล่มเลือด ลดความดันโลหิต และช่วยเพิ่มคอเลสเตอรอลชนิดดีคือ เอชดีแอล ยังไม่หมดเพียงแค่นั้น น้ำชาเขียวที่นำมาจิบยังช่วยป้องกันไม่ให้แบคทีเรียเกาะที่ฟัน ช่วยป้องกันฟันผุได้อีกด้วย จะมีเครื่องดื่มสำหรับชายามบ่ายอะไรที่ดีไปกว่านี้

เพื่อให้ได้ผลดีต่อสุขภาพจากชาเขียวครบถ้วน คุณต้องดื่มประมาณ 5-10 ถ้วยต่อวัน และถึงแม้ว่าชาเขียวจะมีคาเฟอีนต่ำกว่ากาแฟ แต่หากดื่มเกินกว่า 5 ถ้วยต่อวัน ก็ส่งผลให้คุณอยู่ไม่สุขได้เหมือนกัน มีชาเขียวแบบปราศจากคาเฟอีนวางจำหน่ายอยู่บ้าง แต่ค่อนข้างหาซื้อได้ยาก ชาเขียวสกัดหนึ่งเม็ดจะมีค่าเท่ากับชาเขียวหนึ่งถ้วนครึ่ง


ข้อมูลจาก วิตามินไบเบิล

ลบรอยฟกช้ำด้วยสมุนไพรไทย



รู้จักสังเกตอาการฟกช้ำ


เมื่อคุณประสบอุบัติเหตุเล็กๆน้อยๆ เช่น หกล้ม ชนโต๊ะ หรือตกบันได้ หรือบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา เหล่านี้อาจทำให้เกิดอาการฟกช้ำ ซึ่งจะมีลักษณะดังนี้

• รอยฟกช้ำมีสีคล้ำดำและม่วง แล้วค่อยๆจางเป็นสีเหลือง รอยฟกช้ำถือเป็นการเปลี่ยนแปลงสีผิวของผิวหนัง เกิดจากการมีเลือดออกจากเส้นเลือดฝอยใต้ผิวหนังที่ได้รับบาดเจ็บ แล้วรวมตัวกันบริเวณใกล้ผิวหนังชั้นบนสุด ทำให้มองเห็นเป็นรอยสีคล้ำดำและม่วง โดยทั่วไปรอยฟกช้ำนี้จะจางหายไปเองประมาณสองสัปดาห์

• แผลฟกช้ำ ต่างจากแผลถลอกและแผลฉีกขาดตรงที่บริเวณผิวหนังของรอยฟกช้ำจำไม่มีรอยแยกเป็นแผลให้เห็น จึงทำให้ไม่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อ

• อาจมีอาการปวดบวมอักเสบร่วมด้วย หรืออาจมี อาการช้ำในได้ เนื่องจากได้รับการกระแทกอย่างแรงจนอวัยวะที่อยู่ภายในร่างกายบอบช้ำ

• เจ็บหรือไม่เจ็บก็ได้ แต่ถ้ามีอาการเจ็บมาก มักเกิดอาการฟกช้ำบริเวณเหนือกระดูก เพราะเป็นเนื้อเยื่อที่มีโอกาสเกิดเลือดคั่งมาก

ปฏิบัติการฉุกเฉินด้วยความเย็น-ร้อน

การใช้ความเย็น ความร้อน ถือเป็นวิธีการรักษาแผลฟกช้ำที่ดีที่สุด แต่ต้องทำทันทีที่เกิดอาการ ลองมาดูกันค่ะว่าทำอย่างไร

• ก่อนอื่นให้รีบประคบด้วยความเย็น โดยใช้ถุงประคบเย็นที่มีขายตามร้านขายยา หรืออาจทำถุงประคบเย็นไว้ใช้เอง โดยใช้ถั่วแระญี่ปุ่นแช่เย็นใส่ถุงพลาสติกแล้วห่อด้วยผ้าขนหนู นำมาวางประคบบนรอยช้ำนานประมาณ 10 นาที ไม่ควรทิ้งนอนเกินกว่านั้น รอเวลาอีก 20 นาที จึงประคบใหม่อีกครั้ง ทำเช่นนี้ต่อเนื่องกัน 2-3 ครั้ง

นอกจากใช้ถั่วแระญี่ปุ่นแล้ว ยังใช้ผ้าสำลีแช่น้ำเย็นบิดพอหมาดวางประคบแทนได้ การประคบด้วยความเย็นนี้ลดการไหลเวียนของเลือด จะช่วงให้รอยช้ำไม่เข้มมากนัก

• เมื่อทำให้รอยฟกช้ำเย็นตัวลงครบ 24 ชั่วโมงแล้ว ให้เริ่มประคบด้วยความร้อน โดยใช้ผ้าจุ่มน้ำอุ่นๆบิดหมาด หรือใช้ถุงประคบร้อนที่สามารถนำเข้าอุ่นในเตาไมโครเวฟให้ร้อน แล้วนำมาประคบรอยฟกช้ำครั้งละ 20 นาที วันละ 2-3 ครั้ง เพื่อช่วยกระตุ้นให้เกิดการไหลเวียนของเลือดและกำจัดเลือดที่คั่งอยู่ออกไป จะทำให้รอยฟกช้ำค่อยๆจางลง

นอกจากนี้ยังมีสูตรสมุนไพร ช่วยรักษาอาการฟกช้ำมาฝากกันด้วยค่ะ

สูตรลูกประคบลบรอยฟกช้ำ

ลูกประคบของไทยมีหลายสูตร ซึ่งมีสรรพคุณแตกต่างกันไป เช่น คลายเมื่อยเนื้อตัว รวมถึงแก้อาการฟกช้ำและปวดบวมได้ด้วย

ใบรางจืด ใช้ใบรางจืดสด 1 กำมือ ล้างน้ำให้สะอาดแล้วตำให้ละเอียด ผสมการบูรประมาณ 1 หยิบมือ คลุกเคล้าให้ทั่วแล้วห่อด้วยผ้าขาวบางทำเป็นลูกประคบ ก่อนนำมาใช้ควรนึ่งให้อุ่น ใช้ประคบบริเวณที่ฟกช้ำนานประมาณ 10 นาที ทุกวัน เช้าและเย็นจนกว่าจะหาย ลูกประคบใบรางจืดมีสรรพคุณเป็นยาเย็น จึงใช้แก้อาการฟกช้ำที่มีอาการปวดบวมอักเสบหรือฟกช้ำภายในได้ดี

สมัยโบราณจะใช้ลูกประคบที่นึ่งแล้วจุ่มในเหล้าขาวก่อนนำมาประคบ เพราะเหล้าขาวเป็นตัวนำยา (หรือกษัยยา) ช่วยทำให้สมุนไพรซึมเข้าสู่ผิวหนังได้ดี และช่วยลบรอยฟกช้ำได้เร็วขึ้น

ใบขิง ลูกประคบใบขิง วิธีการทำเหมือนใบรางจืด แต่แตกต่างกันที่การนำไปใช้ เพราะลูกประคบใบขิงจะมีสรรพคุณเป็นยาร้อน ช่วยกระจายเลือด ใช้แก้อาการฟกช้ำที่ไม่มีอาการปวดบวมอักเสบร่วมด้วย

หัวไพล ใช้ไพลประมาณ 1 หัว ตำแล้วคั้นเอาเฉพาะน้ำทาถูบริเวณที่มีอาการ หรือนำมาทำเป็นลูกประคบด้วยวิธีเดียวกับใบรางจืด เพื่อช่วยบรรเทาปวดและลดรอยฟกช้ำได้เช่นกัน



สมุนไพรลดการอักเสบ

ใบพลับพลึง ใช้ใบพลับพลึงลนไฟอ่อนๆจนใบนิ่ม แล้วนำมาพันบริเวณที่ฟกช้ำ ทำเช่นนี้ทุกวัน เช้าและเย็น จนกว่าจะหาย ช่วยลดอาการปวดบวมได้

น้ำมะนาว ก็มีสรรพคุณลดการอักสบ ลดปวด และทำให้รอยช้ำจางเร็วขึ้น โดยใช้น้ำมะนาวคั้นสด 1 ลูก ผสมกับดินสอพอง 2-3 เม็ด นำมาพอกบริเวณที่ฟกช้ำ ทุกวัน เช้าและเย็น

เคล็ด (ไม่) ลับเร่งลดรอยช้ำ

ถึงแม้รอยช้ำนี้จะจางไปเองได้ก็จริง แต่เคล็ดลับเหล่านี้จะช่วยลดรอยฟกช้ำดำเขียวได้อย่างรวดเร็ว เพื่อไม่ให้สาวๆต้องกังวลกันอีกต่อไป

• ถ้าเกิดรอยช้ำบริเวณแขนหรือขา ให้รีบพันด้วยผ้ายืดพันแผล ผ้ายืดจะช่วยบีบเนื้อเยื่อไว้ จึงป้องกันไม่ให้เลือดไหลกระจายออกไปในเนื้อเยื่ออื่นๆ รอยฟกช้ำจึงไม่รุนแรงนัก

• นอกจากนี้ยังมีวิธีลดการไหลเวียนเลือดมายังรอยฟกช้ำ เพื่อไม่ให้รอยฟกช้ำเข้มมาก หลักการคือ พยายามยกอวัยวะนั้นให้สูง เช่น ถ้าฟกช้ำที่ขา ควรนั่งพักบนโซฟาหรือเก้าอี้นุ่น ถ้าอยู่ในห้องนอน อาจนอนพาดขาบนหมอน เพื่อยกขาให้สูงกว่าระดับหัวใจ และถ้าเป็นแขน เวลานั่งให้พยายามยกแขนสูงเหนือระดับหัวใจ

วิธีง่ายๆเพียงเท่านี้ ก็จะทำให้รอยฟกช้ำหายทันใจค่ะ



ข้อมูลจาก นิตยสารชีวจิต

5/30/2554

แคลเซียมในเต้านม…อันตรายจริงหรือ?

ในการปฏิบัติงานประจำที่ศูนย์วินิจฉัยเต้านม มักจะมีคำถามจากผู้ที่มาตรวจเกี่ยวกับเรื่องแคลเซียมหรือหินปูนในเต้านมเสมอว่าคืออะไร เป็นอันตรายไหม ทำไมบางคนถึงมี บางคนไม่มี ต้องผ่าตัดออกหรือไม่ ฯลฯ จึงขออนุญาตเล่าเรื่องแคลเซียมหรือหินปูนในเต้านมเพื่อคนที่อยากรู้จะได้หมดข้อสงสัยและหายความกังวลกันเสียที


แต่ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจคำว่าแคลเซียมในเต้านม หรือที่เรียกง่ายๆในภาษาไทยว่าหินปูนในเต้านมกันก่อนว่าคืออะไร จริงๆแล้วหินปูนเป็นสารประกอบทางเคมีที่เรียกว่าแคลเซียมคาร์บอเนต ซึ่งเป็นแค่ส่วนหนึ่งของสารประกอบแคลเซียมในเต้านม เนื่องจากในเต้านมยังมีสารประกอบแคลเซียมชนิดอื่นๆอีก เช่น แคลเซียมฟอสเฟต เป็นต้น ดังนั้นเพื่อลดความสับสน ในบทความนี้จึงขอเรียกทับศัพท์ว่าแคลเซียม

แคลเซียมสามารถตรวจพบได้จากการตรวจทางรังสีวิทยา โดยเฉพาะจากการถ่ายภาพเอกซเรย์เต้านม หรือ แมมโมแกรมนั่นเอง โดยจะเห็นเป็นสีขาวๆ ขนาดตั้งแต่จุดเล็กๆ เท่าเม็ดทรายจนถึงก้อนใหญ่เท่านิ้วหัวแม่มือ โดยทั่วไปไม่สามารถตรวจพบแคลเซียมโดยการคลำเต้านมยกเว้นแคลเซียมนั้นเกิดร่วมกับก้อนเนื้อที่ทำให้สามารถคลำพบได้

ถ้าแบ่งตามลักษณะรูปร่างแคลเซียมในเต้านมจะมีกว่า 10 ประเภท แต่เพื่อให้ง่ายกว่านั้นจะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ แคลเซียมที่เกิดในเนื้อเยื่อเต้านมและแคลเซียมที่อยู่ในก้อนเนื้องอกในเต้านม

โดยแคลเซียมที่เกิดในเนื้อเยื่อเต้านม อาจแบ่งย่อยออกเป็น

• แคลเซียมที่มีต้นกำเนิดจากท่อน้ำนม แคลเซียมชนิดนี้มีความสำคัญมาก เพราะบางชนิดเป็นแคลเซียมชนิดร้าย ซึ่งก็คือแคลเซียมที่พบในมะเร็งเต้านม โดยเฉพาะมะเร็งเต้านมระยะ 0 หรือระยะเริ่มต้นที่ยังไม่ลุกลามออกนอกท่อน้ำนม แต่ไม่ใช่ว่าแคลเซียมที่เกิดในท่อน้ำนมทุกชนิดจะเป็นมะเร็งเสมอไป

• แคลเซียมที่เกิดในเนื้อเต้านม ซึ่งเป็นชนิดที่พบได้บ่อย แต่ส่วนใหญ่เป็นชนิดที่ไม่อันตราย

• แคลเซียมที่เกิดในเส้นเลือดในเต้านม แคลเซียมชนิดนี้จะจับที่ผนังเส้นเลือดแดงลักษณะคล้ายรางรถไฟ พบบ่อยในผู้สูงอายุ หรือมีโรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ

• แคลเซียมที่เกิดที่ผิวหนังของเต้านม แคลเซียมชนิดนี้พบบ่อยในบริเวณผิวหนังของเต้านมที่มีต่อมเหงื่อ ต่อมไขมันจำนวนมาก เช่น บริเวณด้านล่างของเต้านมหรือหางเต้านมที่ยื่นไปทางรักแร้ นอกจากนี้ในผู้ที่มีแผลเป็นหนาๆ หรือคีลอยด์บริเวณเต้านมอาจพบแคลเซียมอยู่ภายในแผลเป็นได้เช่นกัน

ส่วนแคลเซียมที่อยู่ในก้อนเนื้องอกในเต้านม ซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่อีกกลุ่มที่ไม่ได้เกิดจากตัวเนื้อเยื่อเต้านม แต่เกิดในสิ่งแปลกปลอมในเต้านมที่มีขึ้นภายหลังนั้น ได้แก่

• แคลเซียมที่เกิดร่วมกับก้อนเนื้อ ซึ่งเกิดได้ทั้งกับก้อนเนื้องอกธรรมดาและก้อนมะเร็ง อันจะมีลักษณะแตกต่างกัน คือ แคลเซียมที่เกิดในเนื้องอกธรรมดาที่เรียกว่า fibroadenoma ซึ่งเป็นเนื้องอกธรรมดาที่พบบ่อยที่สุด จะมีลักษณะเฉพาะที่เรียกว่า “popcorn” เพราะมีลักษณะเหมือนข้าวโพดคั่ว

• แคลเซียมที่เกิดภายหลังการบาดเจ็บที่เต้านม ไม่ว่าจะเป็นจากอุบัติเหตุ ถูกกระแทก หลังผ่าตัดเต้านม หลังฉายรังสี

เมื่อแยกประเภทของเต้านมเป็นกลุ่มต่างๆ ข้างต้น จะเห็นว่า ส่วนใหญ่แล้วแคลเซียมในเต้านมไม่ใช่มะเร็ง (แคลเซียมที่เป็นมะเร็ง คือ แคลเซียมบางชนิดในท่าน้ำนมและแคลเซียมในก้อนมะเร็ง) ดังนั้นเมื่อท่านตรวจแมมโมแกรม แล้วคุณหมอแจ้งว่า พบแคลเซียมในเต้านมก็อย่างพึ่งตกอกตกใจไป ขอให้ฟังคุณหมอก่อนว่าจะให้ทำอย่างไรต่อไป ซึ่งมีตั้งแต่ให้มาตรวจประจำปี (หมายความว่าไม่อันตรายแน่นอน) ตรวจติดตามผลระยะสั้นในอีก 6 เดือน หรือแนะนำให้เจาะชิ้นเนื้อตรวจ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับลักษณะและการกระจายตัวของแคลเซียมที่พบ

มีคำถามหนึ่งที่อาจจะค้างคาใจใครหลายๆคนนั่นคือ “แคลเซียมในเต้านมเกี่ยวข้องกับนม ตลอดจนยาแคลเซียมเสริมหรือไม่” ทั้งนี้เนื่องจากผู้หญิงส่วนใหญ่ที่มาตรวจเช็คมะเร็งเต้านม มักจะได้ยาเม็ดแคลเซียมเสริมและดื่มนมเป็นประจำ เพื่อป้องกันภาวะกระดูกพรุนในวัยหมดประจำเดือนด้วย ขอบอกให้สบายใจว่าแคลเซียมที่รับประทานเข้าไปไม่ได้ไปจับในเต้านม หรือทำให้พบแคลเซียมในเต้านมเพิ่มขึ้น ขอให้ดื่มนมหรือรับประทานแคลเซียมต่อไปจะได้ประโยชน์มากกว่าค่ะ

หวังว่าเมื่อได้ทราบข้อมูลดังนี้แล้ว ท่านที่ตรวจพบแคลเซียมในเต้านมจะได้ไม่ต้องกังวล เพราะส่วนใหญ่แล้วแคลเซียมในเต้านมไม่อันตราย และพบได้บ่อยในการตรวจเช็คมะเร็งเต้านมด้วยแมมโมแกรมค่ะ



ข้อมูลจาก ผศ.พญ.ชลทิพย์ วิรัตกพันธ์ รังสีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเต้านม
                     HealthToday

5/23/2554

การฝึกแรงต้านทานในเด็ก

ถึงแม้ว่าการฝึกแรงต้านทานจะได้รับการยอมรับว่าเป็นรูปแบบการออกกำลังกายที่มีประโยชน์สำหรับเด็กๆ แต่เนื่องจากร่างกายของเด็กยังมีข้อจำกัดหลายอย่าง การกำหนดรูปแบบหรือโปรแกรมการออกกำลังกายให้เหมาะสมจึงเป็นเรื่องสำคัญ


การฝึกแรงต้านทาน คือ การอาศัยแรงจากภายนอกมาต้านทานเคลื่อนไหวหรือการทำงานของกล้ามเนื้อ โดยอาจจะใช้อุปกรณ์ที่หาได้ง่าย เช่น ดัมเบลล์ ยางยืดสำหรับออกกำลังกาย ลูกเมดิซีนบอล หรือแม้แต่การใช้น้ำหนักตัวของเด็กเองเป็นแรงต้านทานในการออกกำลังกาย หรือการทำกิจกรรมต่างๆ เป็นต้น

แต่เนื่องจากเด็กแต่ละวัยหรือเด็กแต่ละคนจะมีความสามารถ รวมถึงยังมีความก้าวหน้าและพัฒนาการในระดับที่แตกต่างกัน จึงไม่สามารถออกกำลังกายด้วยรูปแบบที่เหมือนกันได้ทั้งหมด นอกจากนี้ร่างกายของเด็กยังมีความสามารถไม่เท่าผู้ใหญ่ รวมถึงร่างกายยังไม่แข็งแกร่ง เพราะกล้ามเนื้อยังไม่แข็งแรง และกระดูกยังเจริญเติบโตไม่เต็มที่ ฉะนั้นจึงควรให้ผู้เชี่ยวชาญ เช่น แพทย์หรือครูฝึกวัดระดับความแข็งแรงและความสามารถทางร่างกาย เพื่อกำหนดเป้าหมายและดโปรแกรมการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับเด็กในแต่ละช่วงอายุ ทั้งนี้เพื่อป้องกันการบาดเจ็บ

โดยหากมีการฝึกตามโปรแกรมที่ออกแบบไว้อย่างเหมาะสมจะสามารถเห็นความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เช่น เห็นพัฒนาการของกระดูกที่เหมาะสมหลังจากผ่านการฝึกไปเพียง 2-3 ครั้ง อย่างไรก็ดี กระบวนการเปลี่ยนแปลงนี้ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในระยะยาวหลังจากมีการฝึกอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลาประมาณ 6 เดือน หรืออาจจะนานกว่านั้นขึ้นอยู่กับลักษณะของโปรแกรมในการฝึก




รูปแบบการออกกำลังกายที่เหมาะสม

• เลือกรูปแบบการออกกำลังกายให้เหมาะสมกับส่วนของร่างกายที่ต้องการฝึก เช่น การวิ่งจะช่วยเพิ่มความแข็งแรงของกระดูกต้นขา แต่ไม่ได้เพิ่มความแข็งแรงให้กับกระดูกแขนหรือข้อมือ ฉะนั้นถ้าต้องการเพิ่มความแข็งแรงความทนทานของกล้ามเนื้อและกระดูกช่วงแขน ควรให้เด็กฝึกยกน้ำหนัก โดยใช้น้ำหนักที่ไม่มากจนเกินไป คือ สามารถยกได้เชตละประมาณ 12-15 ครั้ง และยกประมาณ 1-3 เซ็ต หรือ อาจจะใช้น้ำหนักตัวเป็นแรงต้านทานก็ได้ เช่น การวิดพื้น หรือดึงข้อ เป็นต้น

• การฝึกในลักษณะใช้แรงกระแทกสูงสำหรับส่วนล่างของร่างกาย อย่างเช่น ยิมนาสติก วอลเล่ย์บอล และบาสเกตบอล จะช่วยเพิ่มความแข็งแรง ความทนทานของกล้ามเนื้อ รวมถึงเสริมสร้างการเจริญเติบโต (ช่วยพัฒนาความสูง) และความหนาแน่นของกระดูกที่ขา ข้อสะโพก และหลังได้มากกว่าการฝึกในลักษณะที่ใช้แรงกระแทกต่ำอย่างการเดิน

• การนั่งปั่นจักรยาน การว่ายน้ำ หรือเครื่องกรรเชียงบก แม้จะถือว่าเป็นการออกกำลังกายแบบไม่มีแรงกระแทก จึงอาจจะไม่ได้ช่วยให้กระดูกแข็งแรงหรือเจริญเติบโต แต่ละช่วยในการสร้างความทนทานให้กับกล้ามเนื้อ ทำให้ระบบต่างๆ ในร่างกายแข็งแรงโดยเฉพาะระบบการทำงานของหัวใจและปอด รวมถึงช่วยพัฒนาให้ส่วนต่างๆของร่างกายทำงานสัมพันธ์กันมากขึ้น

• ควรฝึกที่จะใช้ข้อต่อหลายข้อและกล้ามเนื้อหลายมัด มากกว่าการฝึกที่ใช้เพียงข้อต่อหรือกล้ามเนื้อมัดเดียว เช่น การฝึกในท่ากระโดดต่างๆ การฝึกท่าลุกนั่ง ซึ่งเหมาะสำหรับกระดูกสันหลัง กระดูกขา กระดูกสะโพกและการฝึกแบบวิดพื้น ดึงข้อ หรือแม้แต่การใช้ดัมเบลล์ที่ไม่หนักจนเกินไป โดยฝึกในท่าที่ดันขึ้น หรือดึง/ผลัก เพื่อช่วยกระตุ้นสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและกระดูกส่วนบนของร่างกาย

• แนวหรือทิศทางของแรงกระแทกต้องผ่านลงกระดูกสันหลังและกระดูกสะโพก เช่น การกระโดดต่างๆ ทั้งการกระโดดที่เป็นการเล่น เช่น กระโดดตบ กระโดดฮ็อบ กระโดดกระต่างขาเดียว หรือการกระโดดที่ใช้ในการฝึกเพิ่มประสิทธิภาพการเล่นกีฬา เช่น การกระโดดสูงหรือกระโดดไกล เป็นต้น

• ควรมีการฝึกที่หลากหลาย ทั้งนี้เพื่อเปลี่ยนการกระจายของแรงกระแทกและกระตุ้นให้มีการสร้างกระดูกขึ้นมาใหม่ รวมถึงเป็นการลดความน่าเบื่อ และสร้างความสนุกในการฝึกให้กับเด็กๆ เช่น วันจันทร์ พุธ ศุกร์ อาจจะมีการฝึกที่เน้นการใช้ส่วนล่างของร่างกายเป็นหลัก เช่น วิ่ง กระโดด รวมถึงการเล่นเกมส์ต่างๆ อย่างวิ่งไล่จับ กระโดดกระต่ายขาเดียว เป็นต้น หรือมีการฝึกโดยใช้น้ำหนักตัวในการทำให้เกิดแรงต้าน เช่น ท่าลุกนั่ง(squat) ท่าก้าวย่าง (lunges) เป็นต้น ส่วนวันอังคาร และพฤหัส ให้เน้นการออกกำลังกายที่ใช้ส่วนบนของร่างกายเป็นหลัก เช่น การวิดพื้น การดึงข้อ หรือแม้แต่ใช้การเล่นเป็นวิธีการฝึก เช่น การปีนป่ายต้นไม้ หรือเครื่องเล่นเด็กในสนาม การออกแรงผลักกัน หรือแข่งชักคะเย่อ เป็นต้น โดยเด็กๆ สามารถฝึกการทำกิจกรรมต่างๆ เหล่านี้ได้นานถึง 60 นาทีหรือมากกว่านั้นในแต่ละวันและฝึกหรือเล่นได้ทุกวัน


สาเหตุการบาดเจ็บ

ดังที่กล่าวมาแล้วว่าร่างกายของเด็กหรือผู้ที่อยู่ในช่วงวัยรุ่นยังเติบโตไม่เต็มที่ จึงอาจจะได้รับบาดเจ็บจากการฝึกแรงต้านทานได้ หากรูปแบบของการออกกำลังกายที่ทำไม่มีความเหมาะสม เช่น

• การยกน้ำหนักที่มากจนเกินไป อาจทำให้กระดูกเกิดการบาดเจ็บ หรือเกิดการแตกหักที่บริเวณปลายกระดูกของแขน-ขา ซึ่งจะส่งผลต่อการเจริญเติบโต คือ อาจทำให้เด็กเติบโตได้ไม่เต็มที่ หรือทำให้รูปร่างไม่สูงอย่างที่ควรจะเป็น รวมถึงอาจจะหยุดการเจริญเติบโตไว้ก่อนวัยอันควร

• ท่าทางหรือรูปแบบการเคลื่อนไหวที่ไม่ถูกต้อง ก็อาจทำให้เกิดการบาดเจ็บได้

• ฝึกหนักจนเกินไป โดยเฉพาะสำหรับเด็กช่วงอายุ 12-14 ปี ซึ่งกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นต่างๆ ยังมีการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่องและยังแข็งแรงไม่เพียงพอ จึงควรเริ่มฝึกแบบเบาๆ จนกระทั้งกล้ามเนื้อมีความแข็งแรงมากขึ้นค่อยปรับเปลี่ยนน้ำหนักให้มากขึ้น

• การพักฟื้นไม่เพียงพอ ก็อาจส่งผลให้เกิดการหักหรือแตกร้าวของกระดูก รวมถึงการเจ็บกล้ามเนื้อที่มีการใช้งานมากๆได้ ดังนั้นจึงควรมีการสลับส่วนของร่างกายที่ใช้ในการฝึกดังที่ยกตัวอย่างมาข้างต้น

• การใช้อุปกรณ์มีข้อผิดพลาด เช่น ใช้อุปกรณ์ที่ไม่เหมาะสมกับขนาดและความสามารถของร่างกาย โดยเด็กไม่ควรใช้อุปกรณ์ที่มีขนาดใหญ่เกินกว่าร่างกาย หรือมีน้ำหนักมากเกินไปจนไม่สามารถควบคุมจังหวะการเคลื่อนไหวที่เหมาะสมได้

• ได้รับโภชนาการที่ไม่ดีพอ เพราะถ้ามีการออกกำลังกาย ร่างกายจะต้องการสารอาหารสำหรับนำไปซ่อมแซมส่วนที่สึกเหรอ รวมถึงเสริมสร้างการเจริญเติบโตมากขึ้น ดังนั้นถ้าร่างกายได้รับสารอาหารที่ไม่เพียงพอจะทำให้เกิดการบาดเจ็บที่เรื้อรังและทำให้ร่างกายมีการเจริญเติบโตอย่างไม่เหมาะสม แม้จะออกกำลังกายเป็นประจำก็ตาม

ประโยชน์ที่จะได้รับ

สำหรับประโยชน์ที่เด็กๆ จะได้รับจากการฝึกแรงต้านทานที่เหมาะสมจะประกอบไปด้วย

• เพิ่มความเข็งแรงของกล้ามเนื้อ

• เพิ่มความทนทานให้กับกล้ามเนื้อ

• เพิ่มความหนาแน่นของมวลกระดูก

• เสริมสร้างพัฒนาการต่างๆ ทั้งด้านร่างกายและสติปัญญาให้ดีขึ้น

• เสริมสร้างทักษะและการเรียนรู้ที่ดี

• เพิ่มความสามารถทางด้านการกีฬา

• ช่วยปรับปรุงในเรื่องของอารมณ์และจิตใจ

• เพิ่มความทนทานต่อการบาดเจ็บ



ข้อมูลจาก HealthToday

คุณสมพัฒน์ จำรัสโรมรัน ที่ปรึกษาด้านการออกกำลังกาย

5/14/2554

วัณโรค ภัยร้ายใกล้ตัว

วัณโรคคืออะไร

วัณโรค (tuberculosis) เป็นโรคติดเชื้อชนิดหนึ่งที่เกิดจากเชื้อ mycobacterium tuberculosis โดยส่วนใหญ่การติดเชื้อชนิดนี้จะเกิดจากการที่มีผู้ป่วยซึ่งเป็นวัณโรคปอดและมีเชื้อโรคอยู่ในเสมหะมีการไอ ทำให้เชื้อโรคฟุ้งกระจายในอากาศ และมีผู้อื่นหายในเอาเชื้อเข้าไป อย่างไรก็ตาม การติดเชื้อวัณโรคไม่ได้ติดต่อกันได้ง่ายและรวดเร็วเหมือนการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ แต่ผู้ที่จะได้รับเชื้อวัณโรคมักต้องมีการอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยเป็นวัณโรคในระยะแพร่เชื้อสักระยะหนึ่ง โดยที่เชื้อวัณโรคจะมีการแพร่กระจายทางการหายใจเป็นหลัก และไม่ติดต่อโดยการรับประทานอาหารหรือการสัมผัส

วัณโรคทำให้เกิดโรคได้อย่างไร

เมื่อมีการรับเชื้อวัณโรคเข้าไปในร่างกาย ผู้ที่รับเชื้อส่วนหนึ่งจะเกิดการติดเชื้อขึ้น ในระยะนี้ผู้ป่วยมักมีอาการไม่มาก อาจมีไข้และไอบ้าง ถ้าภูมิคุ้มกันของร่างกายเป็นปกติร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันวัณโรคขึ้นมา ซึ่งจะทำให้เชื้อวัณโรคเข้าไปหลบอยู่ตามต่อมน้ำเหลืองหรือที่อวัยวะอื่นๆ เราเรียกระยะการติดเชื้อนี้ว่า การติดเชื้อแบบปฐมภูมิ (primary infection) โดยหลังจากการติดเชื้อแบบปฐมภูมิ ผู้ป่วยจะยังไม่มีอาการ เพียงแต่ถ้าไปตรวจจะพบว่า มีภูมิต่อเชื้อวัณโรค หรือถ้าถ่ายภาพรังสีทรวงอกอาจพบรอยแผลเป็นเล็กๆ หรือภาวะหินปูนเกาะในปอด แต่จะไม่ปรากฎอาการอย่างอื่นเลย ซึ่งเราจะเรียกระยะนี้ว่าระยะการติดเชื้อแฝง (latent infection)

ในผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อในระยะแฝง ส่วนหนึ่งจะเกิดการเจริญเติบโตของเชื้อวัณโรคขึ้นมาได้เองในภายหลัง (reactivation of tuberculosis) เมื่อร่างกายอ่อนแอลง ประมาณว่าในผู้ติดเชื้อแฝง 100 คน จะมีโอกาสเกิดโรควัณโรคขึ้นมาใหม่ประมาณ 10 คนหรือร้อยละ 10 โดยเกิดขึ้นได้บ่อยในช่วง 2-3 ปีแรกภายหลังการรับเชื้อวัณโรคเข้าไป ซึ่งการเกิดโรคขึ้นใหม่มักจะเกิดขึ้นในปอด ทำให้ผู้ป่วยมีการอักเสบเรื้อรังในปอด มีอาการไอเรื้อรัง มีไข้ต่ำๆ อาจมีเหงื่อออกในตอนกลางคืน และน้ำหนักลดลง รวมถึงจะตรวจพบว่ามีภาพรังสีทรวงอกที่ผิดปกติ ซึ่งระยะนี้คือการป่วยเป็นวัณโรคที่เราเข้าใจกันทั่วๆไปนั่นเอง อย่างไรก็ตาม มีผู้ป่วยวัณโรคปอดส่วนหนึ่งที่อาจจะไม่มีอาการเลย เพียงแต่ตรวจพบว่ามีภาพรังสีปอดที่ผิดปกติแต่เพียงอย่างเดียว ซึ่งถ้าไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม ผู้ป่วยเหล่านี้ก็จะมีอาการเกิดขึ้นได้ในระยะต่อไป

นอกจากเกิดโรคที่ปอดแล้ว เชื้อวัณโรคอาจทำให้เกิดโรคที่อวัยวะอื่นๆ นอกปอดได้เช่นกัน เช่นที่กระดูก เยื่อหุ้มสมอง ลำไส้ โดยจะมีอาการแสดงของโรคตามแต่ละอวัยวะที่เกิดการติดเชื้อขึ้น เช่น ต่อมน้ำเหลืองโต ปวดศีรษะ เป็นต้น


อุบัติการณ์วัณโรคในเมืองไทย

จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก ประเทศไทยมีสถานการณ์ความรุนแรงของวัณโรคอยู่ในอันดับที่ 18 ของโลก โดยมีการพบผู้ป่วยวัณโรครายใหม่ปีละประมาณ 90,000 ราย และมีผู้ป่วยที่เสียชีวิตจากวัณโรคปีละ 5,000-7,000 คน โดยพบว่าวัณโรคสามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย แต่ผู้ที่มีความเสี่ยงมากได้แก่ผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น ติดเชื้อ HIV


วัณโรครักษาอย่างไร

การรักษาวัณโรคในปัจจุบันใช้หลักการใช้ยาหลายชนิดร่วมกัน โดยต้องรับประทานยาต่อเนื่องเป็นเวลาอย่างน้อย 6 เดือน แต่ในผู้ป่วยบางรายหรือสูตรยาบางชนิดอาจจะใช้เวลานานกว่านั้น ด้วยเหตุนี้สาเหตุที่ทำให้การรักาวัณโรคล้มเหลวบ่อยที่สุดที่พบก็คือ ผู้ป่วยรับประทานยาไม่ครบตามที่กำหนด ซึ่งอาจจะเกิดจากผลข้างเคียงของยาทำให้ไม่อยากรับประทานยาต่อ หรือบางครั้งเกิดจากการที่ผู้ป่วยหยุดยาเอง เพราะมีอาการดีขึ้นหลังจากรักษาไปได้ระยะหนึ่ง โดยเข้าใจว่าตัวเองหายแล้ว ซึ่งการรับประทานยาวัณโรคไม่ครบจะมีอันตรายมาก เพราะนอกจากจะรักษาไม่หายแล้ว ยังทำให้เชื้อที่เหลืออยู่มีโอกาสกลายเป็นเชื้อดื้อยามากขึ้น ดังนั้นการรักษาวัณโรคจึงจำเป็นต้องมีระบบการติดตามผู้ป่วยที่ดี คือถ้าผู้ป่วยไม่มารับยาต้องมีการติดตาม และผู้ป่วยควรเลือกสถานที่รักษาที่ไปรับยาได้สะดวก

เพราะปัจจุบันการรักษาวัณโรคจะใช้ยาสูตรมาตรฐานเหมือนกันทั่วประเทศ ฉะนั้นไม่ว่าจะรักษาที่ใดก็สามารถรักษาหายได้เหมือนกัน จึงขอแนะนำให้ผู้ป่วยไปรับการรักษาในสถานที่ที่สะดวกที่สุด เมื่อผู้ป่วยรักประทานยาต่อเนื่องไประยะหนึ่ง อาการจะดีขึ้นและเชื้อที่พบในเสมหะก็จะน้อยลง และจะไม่แพร่เชื้ออีกต่อไป จึงไม่จำเป็นต้องรักษาให้ครบก่อนถึงจะกลับไปทำงานได้ เพราะประมาณ 2-4 สัปดาห์หลังการรักษา ปริมาณเชื้อก็จะน้อยลงมากจนไม่น่าจะแพร่เชื้อได้แล้ว



ถ้าคนใกล้ชิดเป็นวัณโรค

สิ่งแรกที่แพทย์จะแนะนำให้กับผู้ที่มีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วยวัณโรคอย่างใกล้ชิด คือ พยายามสืบค้นก่อนว่าผู้สัมผัสโรคดังกล่าวมีภาวะวัณโรคเกิดขึ้นหรือยัง ด้วยการซักประวัติว่ามีอาการบ่งชี้หรือไม่ เช่น ไอเรื้อรัง มีไข้ เหงื่อออกตอนกลางคืน หรือน้ำหนักลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุหรือเปล่า รวมถึงทำการตรวจเพิ่มเติมว่า มีภาพรังสีปอดที่ผิดปกติหรือไม่ ถ้าพบว่ามีวัณโรคก็จะให้การรักษาแบบผู้ป่วยวัณโรค ส่วนในกรณีที่ไม่พบว่าเป็นวัณโรค การจะบอกว่าผู้ป่วยมีการติดเชื้อแฝง (หรือเคยรับเชื้อเข้าไปหรือยัง) สามารถทำได้โดยวิธีอ้อมๆ คือ การทดสอบภูมิคุ้มกันต่อวัณโรค โดยหมอจะทำการฉีดสารสกัดจากเชื้อวัณโรคเข้าไปใต้ผิวหนัง และรอเป็นเวลา 48 ชั่วโมงแล้วจึงวัดในบริเวณที่ฉีดว่าเกิดปฏิกิริยาขึ้นหรือไม่ ถ้าเกิดปฏิกิริยาเป็นบวก (คือมีตุ่มแดงขนาดเกิน 10 มิลลิเมตร) แสดงว่าผู้ถูกทดสอบมีภูมิต่อเชื้อ ซึ่งหมายถึงว่าอาจเคยติดเชื้อมาก่อน

อย่างไรก็ตาม การทดสอบทางผิวหนังแล้วเกิดปฏิกิริยาเป็นบวกพบได้บ่อยในคนไทยทั่วๆไป ดังนั้นการที่มีผลการทดสอบทางผิวหนังเป็นบวก ไม่ได้หมายความว่าคนนั้นป่วยเป็นวัณโรคแล้ว แต่อาจจะเกิดจากการฉีดวัคซีนบีซีจีตั้งแต่เกิด หรือเคยมีการรับเชื้อมาก่อน ดังนั้นการทดสอบทางผิวหนังจึงไม่ค่อยมีประโยชน์มากนักในคนไทย แต่ในผู้ป่วยบางรายที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดวัณโรคสูง เช่น ในเด็กเล็ก ผู้ป่วยที่ภูมิคุ้มกันไม่ดี แพทย์อาจพิจารณาให้การรักษาโดยให้รับประทานยาต้านวัณโรค 1 ชนิดเป็นเวลา 6-9 เดือนเพื่อป้องกันโอกาสการเกิดโรคในอนาคต

วัณโรคดื้อยาคืออะไร

ยามาตรฐานที่ใช้ในการรักษาวัณโรค (first line drugs) มีอยู่ประมาณ 5 ชนิด โดยทั่วไปการใช้ยาสูตรมาตรฐาน รักษาวัณโรคที่ไม่ดื้อยา หากผู้ป่วยได้รับยาอย่างถูกต้องจะมีโอกาสรักษาหายขาดมากกว่าร้อยละ 90 แต่ปัจจุบันเริ่มพบว่าวัณโรคที่ดื้อต่อยามาตรฐาน โดยพบมากในผู้ป่วยที่มีประวัติการรักษาที่ไม่เหมาะสมหรือได้รับการรักษาที่ไม่ครบถ้วนมาก่อน ซึ่งปัยหาของเชื้อที่ดื้อยา คือ ถ้ามีเชื้อที่ดื้อต่อยาต้านวัณโรคหลายตัว การรักษาด้วยยามาตรฐานจะไม่ได้ผล จำเป็นต้องใช้ยาสำรอง (second line drugs) ซึ่งจะมีราคาแพงมาก และมีผลข้างเคียงสูง แต่ก็ยังสามารถรักษาให้หายขาดได้ โดยควรอยู่ในความดูแลของแพทย์ ผู้ที่มีความชำนาญ ดังนั้นแนวทางการป้องกันเชื้อดื้อยาที่สำคัญ คือ ต้องให้ผู้ป่วยวัณโรคทุกรายได้รับการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสมตั้งแต่แรก

วัคซีนป้องกันวัณโรคมีหรือไม่

จริงๆแล้วเด็กไทยเกือบทุกคนจะได้รับการฉีดวัคซีนบีซีจีตั้งแต่แรกเกิดอยู่แล้ว แต่พบว่าวัคซีนชนิดนี้อาจมีผลช่วยป้องกันการติดเชื้อวัณโรคชนิดที่รุนแรงในเด็กช่วงอายุขวบปีแรกเท่านั้น แต่ไม่มีผลในการป้องกันการเกิดโรคในผู้ใหญ่ ดังนั้นจึงถือว่าปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนที่ใช้ป้องกันวัณโรคที่ได้ผล

ดังนั้นวิธีการป้องกันการแพร่เชื้อวัณโรคที่ดีที่สุด คือ การให้การวินิจฉัยผู้ป่วยที่เป็นวัณโรคให้เร็วที่สุดและให้การรักษาที่เหมาะสม เพื่อลดโอกาสการแพร่กระจายเชื้อจากผู้ป่วย และผู้ป่วยวัณโรคในระยะแพร่เชื้อควรปฏิบัติตัวให้เหมาะสม เช่น ใช้หน้ากากอนามัย หลีกเลี่ยงการเข้าไปในที่ชุมชนจนกว่าจะได้รับการรักษาในระยะที่เหมาะสมและไม่มีการแพร่เชื้ออีกต่อไป

นอกจากนี้การรักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ การออกกำลังกายบ่อยๆ รับประทานอาหารให้ครบหมู่ รวมถึงหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดวัณโรค เช่น ไม่สำส่อนทางเพศ ไม่ใช้ยาเสพติด และการตรวจภาพรังสีปอดปีละครั้ง ก็จะช่วยให้ทุกคนปลอดภัยจากวัณโรคได้มากขึ้นอีกด้วย



ข้อมูลจาก HealthToday

4/27/2554

การฝึกแรงต้านทานในเด็ก

ถึงแม้ว่าการฝึกแรงต้านทานจะได้รับการยอมรับว่าเป็นรูปแบบการออกกำลังกายที่มีประโยชน์สำหรับเด็กๆ แต่เนื่องจากร่างกายของเด็กยังมีข้อจำกัดหลายอย่าง การกำหนดรูปแบบหรือโปรแกรมการออกกำลังกายให้เหมาะสมจึงเป็นเรื่องสำคัญ


การฝึกแรงต้านทาน คือ การอาศัยแรงจากภายนอกมาต้านทานเคลื่อนไหวหรือการทำงานของกล้ามเนื้อ โดยอาจจะใช้อุปกรณ์ที่หาได้ง่าย เช่น ดัมเบลล์ ยางยืดสำหรับออกกำลังกาย ลูกเมดิซีนบอล หรือแม้แต่การใช้น้ำหนักตัวของเด็กเองเป็นแรงต้านทานในการออกกำลังกาย หรือการทำกิจกรรมต่างๆ เป็นต้น

แต่เนื่องจากเด็กแต่ละวัยหรือเด็กแต่ละคนจะมีความสามารถ รวมถึงยังมีความก้าวหน้าและพัฒนาการในระดับที่แตกต่างกัน จึงไม่สามารถออกกำลังกายด้วยรูปแบบที่เหมือนกันได้ทั้งหมด นอกจากนี้ร่างกายของเด็กยังมีความสามารถไม่เท่าผู้ใหญ่ รวมถึงร่างกายยังไม่แข็งแกร่ง เพราะกล้ามเนื้อยังไม่แข็งแรง และกระดูกยังเจริญเติบโตไม่เต็มที่ ฉะนั้นจึงควรให้ผู้เชี่ยวชาญ เช่น แพทย์หรือครูฝึกวัดระดับความแข็งแรงและความสามารถทางร่างกาย เพื่อกำหนดเป้าหมายและดโปรแกรมการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับเด็กในแต่ละช่วงอายุ ทั้งนี้เพื่อป้องกันการบาดเจ็บ

โดยหากมีการฝึกตามโปรแกรมที่ออกแบบไว้อย่างเหมาะสมจะสามารถเห็นความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เช่น เห็นพัฒนาการของกระดูกที่เหมาะสมหลังจากผ่านการฝึกไปเพียง 2-3 ครั้ง อย่างไรก็ดี กระบวนการเปลี่ยนแปลงนี้ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในระยะยาวหลังจากมีการฝึกอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลาประมาณ 6 เดือน หรืออาจจะนานกว่านั้นขึ้นอยู่กับลักษณะของโปรแกรมในการฝึก



รูปแบบการออกกำลังกายที่เหมาะสม

• เลือกรูปแบบการออกกำลังกายให้เหมาะสมกับส่วนของร่างกายที่ต้องการฝึก เช่น การวิ่งจะช่วยเพิ่มความแข็งแรงของกระดูกต้นขา แต่ไม่ได้เพิ่มความแข็งแรงให้กับกระดูกแขนหรือข้อมือ ฉะนั้นถ้าต้องการเพิ่มความแข็งแรงความทนทานของกล้ามเนื้อและกระดูกช่วงแขน ควรให้เด็กฝึกยกน้ำหนัก โดยใช้น้ำหนักที่ไม่มากจนเกินไป คือ สามารถยกได้เชตละประมาณ 12-15 ครั้ง และยกประมาณ 1-3 เซ็ต หรือ อาจจะใช้น้ำหนักตัวเป็นแรงต้านทานก็ได้ เช่น การวิดพื้น หรือดึงข้อ เป็นต้น

• การฝึกในลักษณะใช้แรงกระแทกสูงสำหรับส่วนล่างของร่างกาย อย่างเช่น ยิมนาสติก วอลเล่ย์บอล และบาสเกตบอล จะช่วยเพิ่มความแข็งแรง ความทนทานของกล้ามเนื้อ รวมถึงเสริมสร้างการเจริญเติบโต (ช่วยพัฒนาความสูง) และความหนาแน่นของกระดูกที่ขา ข้อสะโพก และหลังได้มากกว่าการฝึกในลักษณะที่ใช้แรงกระแทกต่ำอย่างการเดิน

• การนั่งปั่นจักรยาน การว่ายน้ำ หรือเครื่องกรรเชียงบก แม้จะถือว่าเป็นการออกกำลังกายแบบไม่มีแรงกระแทก จึงอาจจะไม่ได้ช่วยให้กระดูกแข็งแรงหรือเจริญเติบโต แต่ละช่วยในการสร้างความทนทานให้กับกล้ามเนื้อ ทำให้ระบบต่างๆ ในร่างกายแข็งแรงโดยเฉพาะระบบการทำงานของหัวใจและปอด รวมถึงช่วยพัฒนาให้ส่วนต่างๆของร่างกายทำงานสัมพันธ์กันมากขึ้น

• ควรฝึกที่จะใช้ข้อต่อหลายข้อและกล้ามเนื้อหลายมัด มากกว่าการฝึกที่ใช้เพียงข้อต่อหรือกล้ามเนื้อมัดเดียว เช่น การฝึกในท่ากระโดดต่างๆ การฝึกท่าลุกนั่ง ซึ่งเหมาะสำหรับกระดูกสันหลัง กระดูกขา กระดูกสะโพกและการฝึกแบบวิดพื้น ดึงข้อ หรือแม้แต่การใช้ดัมเบลล์ที่ไม่หนักจนเกินไป โดยฝึกในท่าที่ดันขึ้น หรือดึง/ผลัก เพื่อช่วยกระตุ้นสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและกระดูกส่วนบนของร่างกาย

• แนวหรือทิศทางของแรงกระแทกต้องผ่านลงกระดูกสันหลังและกระดูกสะโพก เช่น การกระโดดต่างๆ ทั้งการกระโดดที่เป็นการเล่น เช่น กระโดดตบ กระโดดฮ็อบ กระโดดกระต่างขาเดียว หรือการกระโดดที่ใช้ในการฝึกเพิ่มประสิทธิภาพการเล่นกีฬา เช่น การกระโดดสูงหรือกระโดดไกล เป็นต้น

• ควรมีการฝึกที่หลากหลาย ทั้งนี้เพื่อเปลี่ยนการกระจายของแรงกระแทกและกระตุ้นให้มีการสร้างกระดูกขึ้นมาใหม่ รวมถึงเป็นการลดความน่าเบื่อ และสร้างความสนุกในการฝึกให้กับเด็กๆ เช่น วันจันทร์ พุธ ศุกร์ อาจจะมีการฝึกที่เน้นการใช้ส่วนล่างของร่างกายเป็นหลัก เช่น วิ่ง กระโดด รวมถึงการเล่นเกมส์ต่างๆ อย่างวิ่งไล่จับ กระโดดกระต่ายขาเดียว เป็นต้น หรือมีการฝึกโดยใช้น้ำหนักตัวในการทำให้เกิดแรงต้าน เช่น ท่าลุกนั่ง(squat) ท่าก้าวย่าง (lunges) เป็นต้น ส่วนวันอังคาร และพฤหัส ให้เน้นการออกกำลังกายที่ใช้ส่วนบนของร่างกายเป็นหลัก เช่น การวิดพื้น การดึงข้อ หรือแม้แต่ใช้การเล่นเป็นวิธีการฝึก เช่น การปีนป่ายต้นไม้ หรือเครื่องเล่นเด็กในสนาม การออกแรงผลักกัน หรือแข่งชักคะเย่อ เป็นต้น โดยเด็กๆ สามารถฝึกการทำกิจกรรมต่างๆ เหล่านี้ได้นานถึง 60 นาทีหรือมากกว่านั้นในแต่ละวันและฝึกหรือเล่นได้ทุกวัน

สาเหตุการบาดเจ็บ

ดังที่กล่าวมาแล้วว่าร่างกายของเด็กหรือผู้ที่อยู่ในช่วงวัยรุ่นยังเติบโตไม่เต็มที่ จึงอาจจะได้รับบาดเจ็บจากการฝึกแรงต้านทานได้ หากรูปแบบของการออกกำลังกายที่ทำไม่มีความเหมาะสม เช่น

• การยกน้ำหนักที่มากจนเกินไป อาจทำให้กระดูกเกิดการบาดเจ็บ หรือเกิดการแตกหักที่บริเวณปลายกระดูกของแขน-ขา ซึ่งจะส่งผลต่อการเจริญเติบโต คือ อาจทำให้เด็กเติบโตได้ไม่เต็มที่ หรือทำให้รูปร่างไม่สูงอย่างที่ควรจะเป็น รวมถึงอาจจะหยุดการเจริญเติบโตไว้ก่อนวัยอันควร

• ท่าทางหรือรูปแบบการเคลื่อนไหวที่ไม่ถูกต้อง ก็อาจทำให้เกิดการบาดเจ็บได้

• ฝึกหนักจนเกินไป โดยเฉพาะสำหรับเด็กช่วงอายุ 12-14 ปี ซึ่งกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นต่างๆ ยังมีการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่องและยังแข็งแรงไม่เพียงพอ จึงควรเริ่มฝึกแบบเบาๆ จนกระทั้งกล้ามเนื้อมีความแข็งแรงมากขึ้นค่อยปรับเปลี่ยนน้ำหนักให้มากขึ้น

• การพักฟื้นไม่เพียงพอ ก็อาจส่งผลให้เกิดการหักหรือแตกร้าวของกระดูก รวมถึงการเจ็บกล้ามเนื้อที่มีการใช้งานมากๆได้ ดังนั้นจึงควรมีการสลับส่วนของร่างกายที่ใช้ในการฝึกดังที่ยกตัวอย่างมาข้างต้น

• การใช้อุปกรณ์มีข้อผิดพลาด เช่น ใช้อุปกรณ์ที่ไม่เหมาะสมกับขนาดและความสามารถของร่างกาย โดยเด็กไม่ควรใช้อุปกรณ์ที่มีขนาดใหญ่เกินกว่าร่างกาย หรือมีน้ำหนักมากเกินไปจนไม่สามารถควบคุมจังหวะการเคลื่อนไหวที่เหมาะสมได้

• ได้รับโภชนาการที่ไม่ดีพอ เพราะถ้ามีการออกกำลังกาย ร่างกายจะต้องการสารอาหารสำหรับนำไปซ่อมแซมส่วนที่สึกเหรอ รวมถึงเสริมสร้างการเจริญเติบโตมากขึ้น ดังนั้นถ้าร่างกายได้รับสารอาหารที่ไม่เพียงพอจะทำให้เกิดการบาดเจ็บที่เรื้อรังและทำให้ร่างกายมีการเจริญเติบโตอย่างไม่เหมาะสม แม้จะออกกำลังกายเป็นประจำก็ตาม

ประโยชน์ที่จะได้รับ

สำหรับประโยชน์ที่เด็กๆ จะได้รับจากการฝึกแรงต้านทานที่เหมาะสมจะประกอบไปด้วย

• เพิ่มความเข็งแรงของกล้ามเนื้อ

• เพิ่มความทนทานให้กับกล้ามเนื้อ

• เพิ่มความหนาแน่นของมวลกระดูก

• เสริมสร้างพัฒนาการต่างๆ ทั้งด้านร่างกายและสติปัญญาให้ดีขึ้น

• เสริมสร้างทักษะและการเรียนรู้ที่ดี

• เพิ่มความสามารถทางด้านการกีฬา

• ช่วยปรับปรุงในเรื่องของอารมณ์และจิตใจ

• เพิ่มความทนทานต่อการบาดเจ็บ

ข้อมูลจาก HealthToday


คุณสมพัฒน์ จำรัสโรมรัน ที่ปรึกษาด้านการออกกำลังกาย

สวยด้วยผักผลไม้สีเหลือง



คุณเคยสังเกตตัวเองไหมคะว่า สัปดาห์หนึ่งๆเรารับประทานพืชผักอะไรไปบ้าง แล้วพืชผักนั้นๆมีสีอะไร


งานวิจัยในปัจจุบันยืนยันว่า การรับประทานพืชผักหลายหลายสีจะช่วยเพิ่มภูมิต้านทานความเจ็บป่วย ช่วยทำให้ผิวพรรณสดใส ไม่แก่ก่อนวัยและช่วยป้องกันโรคภัยไข้เจ็บได้อีกด้วย

นอกจากนั้นนักวิทยาศาสตร์ยังบอกอีกว่าอาหารจากพืชชนิดเดียวอาจจะประกอบด้วยสารอาหารหลายร้อยชนิดที่ต่อสู้กับโรคภัยไข้เจ็บ สารเหล่านี้เรียกว่า “พฤกษเคมี” หรือไฟโตเคมิคัล (phytochemical) ซึ่งได้แก่ สารประกอบที่ทำให้เกิดสีสดใส เกิดกลิ่น และรสชาติเฉพาะของผักผลไม้

วันนี้เรามีพืชผักสีเหลืองและสีส้มซึ่งอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุมาแนะนำให้รู้จัก พร้อมทั้งวิธีการนำพืชผักเหล่านี้ไปใช้เป็นสูตรบำรุงผิวพรรณกันค่ะ

เหลือง+ส้ม เพิ่มภูมิชีวิต

สีเหลือง

เป็นสีที่ทำให้มีอารมณ์ขัน ทั้งยังสามารถใช้เยียวยาอาการท้อแท้ หดหู่ และหมดกำลังใจของผู้ป่วยบางประเภทได้อีกด้วย เช่น ข้าวโพด ดอกโสน กล้วย มะม่วงสุก สับปะรดและแคนตาลูป

ผักและผลไม้ที่มีสีเหลืองมักอุดมไปด้วยวิตามินเอที่ช่วยบำรุงสายตา ป้องกันหวัด และช่วยเสริมสร้างความเจริญเติบโตให้ร่างกาย ช่วยให้ระบบการทำงานของน้ำดีและลำไส้เป็นไปตามปกติ ช่วยปรับสมดุลของระบบทางเดินอาหาร ทำให้ระบบย่อยอาหารและระบบขับถ่ายทำงานดีขึ้น



สีส้ม

จะช่วยให้รู้สึกมีพลัง ซึ่งในทางจิตวิทยา พลังของสีส้มมีคุณสมบัติในการบรรเทาอาการซึมเศร้า ผักผลไม้สีส้ม เช่น ส้ม ฟักทอง แครอท และมะละกอ จะอุดมด้วยวิตามินบีที่ช่วยในการสร้างเม็ดเลือด เผาผลาญแป้งและน้ำตาล บำรุงประสาท ช่วยบรรเทาอาหารหอบหืดและโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ ช่วยรักษาความผิดปกติของม้าม ตับอ่อน ลำไส้ ทั้งยังช่วยในการดูดซึมอาหารของกระเพาะและลำไส้ได้เป็นอย่างดี

ข้อมูลจาก แพทย์หญิงเรขา กลลดาเรืองไกร

ตรวจมะเร็งเต้านมจาก “เส้นผม”

ล่าสุดได้มีงานวิจัย ที่คิดค้นวิธีการตรวจหามะเร็งเต้านมแบบใหม่จากการตรวจสภาพเส้นผมด้วยรังสีเอกซ์ ซึ่งค้นพบโดยนักวิจัยจาก บริษัทเฟอร์มิสแคน (Fermiscan Ltd.) ซึ่งตั้งอยู่ในนครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย


นักวิจัยได้ทดสอบเทคนิคดังกล่าวกับกลุ่มตัวอย่างผู้ป่วยมะเร็งเต้านมจำนวน 13 ราย เปรียบเทียบกับผู้หญิงสุขภาพแข็งแรง 20 ราย พบว่า เส้นผมของผู้หญิงที่เป็นมะเร็งเต้านมต่างจากผมของผู้หญิงที่ไม่เป็นโรค โดยเลือกตัดเอาเส้นผมชิดกับผิวหนังให้มากที่สุด ซึ่งเป็นบริเวณที่เส้มผมล่าสุดเพิ่งงอก จากนั้นนำไปฉายด้วยรงสีเอกซ์ จะเห็นการกระเจิงของคลื่นรังสีเอกซ์ในรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป

งานวิจัยดังกล่าวได้ตีพิมพ์ใน วารสาร International Journal of Cancer รายงานว่า เส้นผมของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมมีวงแหวนความหนาแน่นต่ำปรากฏอยู่ และเป็นเครื่งหมายที่ฟ้องว่าเป็นมะเร็งเต้านมอย่างชัดเจน

นักวิจัยยังลองศึกษาเส้นผมอายุ 6 เดือนของผู้ป่วยมะเร็งเต้านม เป็นผมที่ร่วงหลังจากเข้ารับการรักษาด้วยเคมีบำบัด พวกเขาพบตำแหน่งการกระเจิงของแสงที่แตกต่างไปจากเส้นผมของคนสุขภาพปกติ 3 ตำแหน่ง ได้แก่ ตำแหน่งที่อยู่ไกลสุดจากปลายผม กลางผม และรากผม บริเวณดังกล่าวมีความหนาแน่นลดน้อยลงตามลำดับ

ส่วนสาเหตุที่เส้นผมของผู้ป่วยมะเร็งกับคนสุขภาพปกติแตกต่างกัน เป็นเพราะใยของเส้นผมผู้ป่วยมะเร็งมีสารไลปิดน้อยลง อันเป็นผลมาจากภาวะเนื้องอก ทั้งนี้ นักวิจัยยังต้องทดสอบเพิ่มเติมเพื่อตรวจดูความแม่นยำของระเบียบวิธีวิจัย ก่อนจะนำมาใช้เป็นเทคนิคตรวจหามะเร็งเต้านมต่อไป

แต่ไม่ว่าเราจะมีเทคโนโลยีที่ทั้งทันสมัยและแม่นยำเพียงใด หากเรารู้จักดูแลสุขภาพตัวเองกันก่อนที่จะเจ็บป่วยย่อมเป็นการดีกว่า จริงไหมคะ

ข้อมูลจาก นิตยสารชีวจิต

3/14/2554

6 เคล็ดลับลดน้ำหนัก

  1. จดบันทึกอาหาร  จดทุกอย่างที่กินแล้วเปรียบเทียบกับสิ่งที่คุณกินตอนเริ่มลดน้ำหนัก ผลการศึกษาพบว่าเราลืมไปเยอะเลยว่ากินอะไรไปบ้างตลอดทั้งวัน ดังนั้นให้ซื่อตรงกับตัวเอง ลองคิดสิว่าคุณกินบิสกิตเพิ่มไปรึเปล่า?
  2. ตระหนักว่าเมื่อน้ำหนักลดก็ต้องกินน้อยลงด้วย ยิ่งคุณตัวเบาลงแค่ไหนก็ต้องการพลังน้อยลงเท่านั้น
  3. ความหลากหลายคือสิ่งสำคัญ การกินอาหารซ้ำซากทุกวันทำให้คุณโหยหาของหวาน
  4. ทบทวนแอโรบิกรายสัปดาห์ ร่างกายต้องได้รับการผลักดันให้เผาผลาญไขมันและสร้างกล้ามเนื้อ ดังนั้นคุณต้องออกกำลังมากขึ้นด้วยการเพิ่มระยะเวลาออกกำลัง
  5. สร้างแรงบันดาลใจเข้าไว้ เตือนตัวเองว่าทำไมถึงอยากลดน้ำหนักตั้งแต่แรก และจะดูดีแค่ไหนถ้าทำได้ตามเป้าหมาย
  6. ทำตามแผนการกินของเรา จะช่วยได้ถ้าคุณลดน้ำหนักสามกิโลนั้นลงไปได้ในหกสัปดาห์

ข้อมูลจาก Slimming

3/10/2554

ตรวจมะเร็งเต้านมจาก “เส้นผม”


ล่าสุดได้มีงานวิจัย ที่คิดค้นวิธีการตรวจหามะเร็งเต้านมแบบใหม่จากการตรวจสภาพเส้นผมด้วยรังสีเอกซ์ ซึ่งค้นพบโดยนักวิจัยจาก บริษัทเฟอร์มิสแคน (Fermiscan Ltd.) ซึ่งตั้งอยู่ในนครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย

นักวิจัยได้ทดสอบเทคนิคดังกล่าวกับกลุ่มตัวอย่างผู้ป่วยมะเร็งเต้านมจำนวน 13 ราย เปรียบเทียบกับผู้หญิงสุขภาพแข็งแรง 20 ราย พบว่า เส้นผมของผู้หญิงที่เป็นมะเร็งเต้านมต่างจากผมของผู้หญิงที่ไม่เป็นโรค โดยเลือกตัดเอาเส้นผมชิดกับผิวหนังให้มากที่สุด ซึ่งเป็นบริเวณที่เส้มผมล่าสุดเพิ่งงอก จากนั้นนำไปฉายด้วยรงสีเอกซ์ จะเห็นการกระเจิงของคลื่นรังสีเอกซ์ในรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป


งานวิจัยดังกล่าวได้ตีพิมพ์ใน วารสาร International Journal of Cancer รายงานว่า เส้นผมของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมมีวงแหวนความหนาแน่นต่ำปรากฏอยู่ และเป็นเครื่งหมายที่ฟ้องว่าเป็นมะเร็งเต้านมอย่างชัดเจน


นักวิจัยยังลองศึกษาเส้นผมอายุ 6 เดือนของผู้ป่วยมะเร็งเต้านม เป็นผมที่ร่วงหลังจากเข้ารับการรักษาด้วยเคมีบำบัด พวกเขาพบตำแหน่งการกระเจิงของแสงที่แตกต่างไปจากเส้นผมของคนสุขภาพปกติ 3 ตำแหน่ง ได้แก่ ตำแหน่งที่อยู่ไกลสุดจากปลายผม กลางผม และรากผม บริเวณดังกล่าวมีความหนาแน่นลดน้อยลงตามลำดับ


ส่วนสาเหตุที่เส้นผมของผู้ป่วยมะเร็งกับคนสุขภาพปกติแตกต่างกัน เป็นเพราะใยของเส้นผมผู้ป่วยมะเร็งมีสารไลปิดน้อยลง อันเป็นผลมาจากภาวะเนื้องอก ทั้งนี้ นักวิจัยยังต้องทดสอบเพิ่มเติมเพื่อตรวจดูความแม่นยำของระเบียบวิธีวิจัย ก่อนจะนำมาใช้เป็นเทคนิคตรวจหามะเร็งเต้านมต่อไป


แต่ไม่ว่าเราจะมีเทคโนโลยีที่ทั้งทันสมัยและแม่นยำเพียงใด หากเรารู้จักดูแลสุขภาพตัวเองกันก่อนที่จะเจ็บป่วยย่อมเป็นการดีกว่า จริงไหมคะ

ข้อมูลจาก นิตยสารชีวจิต

3/09/2554

มารู้จักเชื้อโรคที่มากับอาหารกัน

เชื้อโรคที่มากับอาหารมาได้จากหลายทางค่ะ ถ้าได้รับเชื้อแล้ว อาการมักจะเหมือนๆกัน คือมีอาการปวดท้อง ท้องร่วง แต่ก็มีอาการหลายอย่างที่แตกต่างกันบ้าง บางชนิดอาจทำให้คุณมีอาการปวดท้อง ท้องร่วงเป็นเดือน หรือหลายๆเดือนเลยก็ได้ ถ้ารักษาไม่ถูกเชื้อถูกโรค เรามารู้จักเชื้อโรคที่ทำให้เราเกิดอาการปวดท้องกันค่ะ

- Campylobacter เกิด 2-7 วัน ทำให้ท้องร่วง อาเจียน มีไข้เนื่องจากอาหารสัตว์ปีก เนื้อบด ไส้กรอกไม่สุก

- Salmonella เกิด 8-72 ชั่วโมง ทำให้ติดเชื้อเหมือนหวัดลงกระเพาะ เนื่องจากเนื้อ สััตว์ปีก และผลิตภัณฑ์นม ไข่

- Listeria เกิด 8-90 วัน มีอาการเหมือนเป็นไข้หวัด อาเจียน ปัสสาวะจาง เนื่องจากอาหารดิบ

- E.Coli เกิด 3-4 วัน ทำให้เสียดท้อง ท้องร่วง เนื่องจากอาหารไม่สะอาด เกี่ยวพันกับชีส น้ำผลไม้ที่ไม่ผ่านการฆ่าเชื้อ เนื้อบดปรุงไม่สุก

- Golden steph เกิด 1-6 ชั่วโมง มีอาการคลื่นไส้ เสียดท้อง อาเจียน ท้องร่วง เกี่ยวพันกับอาหารเช่น แฮม ไส้กรอก สลัด ขนมไส้ครีม

- Botulinum เกิด 12-36 ชั่วโมง อาการอาเจียน ท้องร่วง ตาพร่า กล้ามเนื้ออ่อนแอ เกี่ยวพันกับอาหารเช่นอาหารกระป๋องและผักในน้ำมัน

- Novirus เกิด 24-48 ชั่วโมง ทำให้คลื่นไส้ เสียดท้อง อาเจียน ท้องเสีย ปวดหัว มีไข้ เกี่ยวพันกับการปรุงอาหารสัตว์ปีก หอย และอาหารที่ปรุงโดยคนซึ่งติดเชื้อ

ถ้าผู้ป่วยมีอาการอาเจียนมาก รับประทานไม่ได้ ถ่ายเป็นมูกเลือด ถ่ายเป็นน้ำ มีไข้ ควรนำส่งโรงพยาบาลนะคะ

อ้างอิงข้อมูลจาก Slimming Magazine

3/08/2554

สูตรสร้างสุข



สูตรสร้างสุข

ได้มีการวิจัยพบว่า พันธุกรรมมีส่วนประมาณร้อยละ 50 ของผลลัพธ์ความสุข ในขณะที่สภาพความเป็นอยู่ของชีวิตมีผลต่อความสุขเพียงร้อยละ 10 เท่านั้น ส่วนอีกร้อยละ 40 ขึ้นอยู่กับสิ่งที่ตัวคุณเองเป็นคนทำให้มีความสุข แต่คนส่วนใหญ่ในโลกใบนี้มักคิดว่า การมีเงินมากมายในบัญชีฝากธนาคาร มีบ้านหลังใหญ่ หรืองานที่ดี จะทำให้ชีวิตสดใสขึ้น แม้สิ่งเหล่านี้จะให้ความรู้สึกพึงพอใจชั่วครู่ชั่วยาม แต่แล้วความสุขก็จะค่อยๆจางหายไป ฉันตื่นเต้นมากตอนที่ได้รถยนต์ที่อยากจะได้มานาน แต่พอสองเดือนผ่านไป ฉันก็รู้สึกเฉยๆ การขับรถใหม่กลายเป็นความจำเจในที่สุด

ในงานวิจัยของ ซอนยา ลูโบเมียร์สกี นักจิตวิทยาและผู้เขียน "อย่างไรเรียกว่าสุข" วิธีคิดเชิงวิทยาศาสตร์เพื่อให้ได้ชีวิตแบบที่เราต้องการ ค้นพบว่า กญแจที่ไขความสุขให้เราได้นานขึ้นคือ การมองข้ามขั้นความพึงพอใจแบบชั่วครู่ชั่วยามไปสู่ความสุขที่แท้จริง ซึ่งวิธีที่เหมาะจะแตกต่างไป ขึ้นอยู่กับแต่ละคน เช่น บางคนอาจตั้งใจไว้ว่าจะทำความดีวันละ 5 อย่างทุกวัน และทำเช่นนี้ตลอดไป ในขณะที่อีกคนแค่จดไดอารี่และขอบคุณสิ่งต่างๆที่ผ่านเข้ามาในชีวิตของวันนั้นๆ แค่นี้ก็ทำให้สุขใจแล้ว


รวยกว่า สุขกว่า จริงหรือ

จากงานวิจัยของมหาวิทยาลัยมิชิแกน ได้ทำการศึกษาถึงความสัมพันธ์ระหว่างรายได้กับความสุขของคนในประเทศสหรัฐอเมริกา แคนาดา และประเทศในทวีปยุโรป พบว่า มีความสัมพันธ์กันน้อยมาก ในบรรดาคนที่จน แม้ช่วงแรกจะมีความสุขต่ำแต่เมื่อถึงจุดเพียงพอที่มีเงินมากขึ้นเล็กน้อย เงิน 50,000 เหรียญก้อนที่สองก็ไม่ได้ทำให้มีความสุขเหมือนเงินก้อนแรกที่ได้รับ เมื่อเทียบความสุขระหว่างการขับรถสปอร์ตราคาแพง การเดินกลับบ้านหรือนั่งรถเมล์กลับ ชาาวสกอตแลนด์จำนวนมากบอกว่าแทบไม่มีอะไรต่างกัน

หลายคนในโลกนี้ รู้สึกแย่มาก และอิจฉากับความสำเร็จของคนที่รวยกว่า หรือมีฐานะดีกว่าตน จนทำให้ชีวิตไม่เป็นปกติ และหมดความสุขในใจอย่างสิ้นเชิง


มีเรื่องเล่าอยู่เรื่องหนึ่ง อาจารย์ท่านนี้ขีดเส้นตรงขึ้นมา 1 เส้น แล้วให้ลูกศิษย์ลองทำเส้นให้สั้นลงโดยไม่ต้องลบ บรรดาลูกศิษย์ทำไม่ได้ เพราะยึดติดกับการลบเส้นเพื่อทำให้เส้นสั้นลง อาจารย์จึงทำการขีดเส้นตรงอีกเส้นหนึ่งที่ยาวกว่าเส้นแรก


ยิ่งเราขีดเส้นที่สองยาวกว่าเส้นแรกมากแค่ไหน ก็จะทำให้เส้นตรงเส้นแรกนั้นดูสั้นลง โดยที่เราไม่จำเป็นต้องไปลบเส้นแรกเลย เปรียบเหมือนคนที่เขาประสบความสำเร็จ เราก็ไม่จำเป็นต้องไปรู้สึกอิจฉาเร่าร้อน หรือหาทางทำลายความสำเร็จของเขาให้สั้นลงไป ในขณะเดียวกัน เราสามารถพัฒนาตัวเราเองให้ดีขึ้นเรื่อยๆ เหมือนเส้นตรงที่ลากยาวขึ้นไม่รู้จบแค่นี้ เส้นตรงของคนอื่นก็ดูสั้นลงไปโดยปริยาย และไม่จำเป็นต้องไปลบเส้นของคนอื่นออกเสียด้วยซ้ำ


ข้อมูลจาก คุณเพ็ญประภา วัฒนรัตน์

3/07/2554

กินผลไม้อย่างไร ถึงจะดีต่อสุขภาพ

ผลไม้มีมากมาย แต่จะรู้ได้อย่างไรว่าจะดีต่อสุขภาพของเรา เรามาดูรายละเอียดกันค่ะ

ผลไม้กับผู้ที่น้ำหนักเกิน

สำหรับผู้ที่มีน้ำหนักเกินหรือผู้ที่อ้วน มีความจำเป็นต้องลดน้ำหนักลงหรือไม่ต้องการให้น้ำหนักเพิ่มขึ้น ก็ต้องเลือกชนิดของอาหารรวมทั้งปริมาณให้พอกับกิจกรรมที่ใช้พลังงานไป เพื่อที่จะได้ไม่เหลือสำหรับร่างกายสะสมไว้ในรูปของไขมันในร่างกาย ผลไม้ก็เช่นเดียวกัน เพราะผลไม้จะมีคาร์โบไฮเดรต และน้ำตาล ถ้าเป็นผลไม้ที่มีรสหวานมาก ก้จะมีน้ำตาลซึ่งจะให้พลังงานมากกว่าผลไม้ที่มีน้ำตาลน้อยกว่า เช่น เงาะ ทุเรียน ลำไย องุ่น สับปะรด ผลไม้ที่มีรสหวานน้อย เช่น ฝรั่ง ชมพู่ แอปเปิ้ล แก้วมังกร และถ้าเป็นผลไม้ที่นำไปคั้น ซึ่งต้องใช้ผลไม้ปริมาณมากและส่วนใหญ่จะดื่มได้ในปริมาณที่มากๆ ก็อาจจะทำให้เราได้รับพลังงานมากเกินไปด้วย ดังนั้นผู้ที่มีน้ำหนักเกินควรจะกินผลไม้รูปของผลไม้สดที่มีใยอาหารอยู่จะดีกว่ากินในรูปของผลไม้ที่นำไปคั้น

ผลไม้กับผู้ป่วยเบาหวาน

สำหรับผู้ป่วยเบาหวานมักจะได้รับคำแนะนำว่าให้กินผลไม้ที่รสไม่หวานจัด เช่น ฝรั่ง ชมพู่ แอปเปิ้ล แก้วมังกร ส้มโอ จะดีกว่า และคำแนะนำเกี่ยวกับค่าดัชนีน้ำตาลซึ่งผู้ป่วยโรคเบาหวานต้องเลือกกินผลไม้ที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำด้วยก็จะเป็นการดี อย่างไรก็ตามข้อมูลค่าดัชนีน้ำตาลของผลไม้ก็ยังมีไม่มาก บางคนสงสัยว่าผลไม้รสไม่หวานนั้นค่าดัชนีน้ำตาลควรจะต่ำด้วย เช่น ส้มโอขาวน้ำผึ้งมีค่าดัชนีน้ำตาล เท่ากับ 59 ซึ่งมีค่ามากกว่ามะม่วงอกร่องสุก และชมพูทับทิมจันทร์ ซึ่งมีค่าดัชนน้ำตาลเท่ากับ 51 และ 50 ตามลำดับ ซึ่งเป็นเพราะน้ำตาลในผลไม้มีทั้งน้ำตาลซูโครส น้ำตาลกลูโครส และน้ำตาลฟรุคโตส ซึ่งผลไม้บางชนิดถึงแม้รสจะไม่หวานจัดแต่น้ำตาลที่เป็นส่วนประกอบคือน้ำตาลกลูโคส เป็นส่วนใหญ่ก็จะมีผลต่อผู้ป่วยโรคเบาหวาน

นอกจากนี้ผู้ป่วยโรคเบาหวานควรกินผลไม้ในรูปแบบของผลไม้สดที่เป็นชิ้นๆที่มีทั้งใยอาหารต่างๆจะดีกว่า เพื่อที่ร่างกายจะได้ค่อยๆย่อยแล้วดูดซึมน้ำตาลเข้าสู่ร่างกาย ทำให้อิ่มท้องได้นาน และสามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีขึ้น

ผลไม้กับผู้ป่วยโรคไต

ในผู้ป่วยโรคไตอาจจะต้องมีการจำกัดปริมาณน้ำที่จะได้รับในแต่ละวัน เพราะเราทราบกันดีอยู่แล้วว่าในผลไม้จะมีน้ำค่อนข้างมากกว่าอาหารชนิดอื่น และผลไม้ต่างชนิดกันก็จะมีปริมาณน้ำแตกต่างกันด้วย เช่น ชมพู่ จะมีปริมาณน้ำมากกว่าแตงโมจินตหรา และมากกว่าสตรอว์เบอร์รี่ ส่วนผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่ร่างกายไม่สามารถขับโพแทสเซี่ยมสูง โดยเฉพาะแก้วมังกร ส้ม ทุเรียน มะละกอ กล้วย ดังนั้นในกลุ่มผู้ป่วยกลุ่มนี้ต้องเลือกชนิด และปริมาณของผลไม้ให้ดีก่อนรับประทาน

อ้างอิงข้อมูลจาก คุณสุจิตต์ สาลีพันธ์

2/13/2554

กรดไหลย้อน โรคฮิตของคนเมือง

โรคกรดไหลย้อน (Gastroesophageal Reflux Disease)

หรือ เรียกสั้นๆ ว่า GERD เป็นภาวะที่ของเหลวในกระเพาะอาหารไหลย้อนไปสู่หลอดอาหาร ทำให้หลอดอาหารอักเสบและเป็นแผล โดยของเหลวที่ไหลย้อนนี้ประกอบด้วยกรดและเปปซิน (pepsin) ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ย่อยโปรตีนในกระเพาะอาหาร เชื่อกันว่ากรดเป็นส่วนประกอบที่อันตรายที่สุดของของเหลวที่ไหลย้อนนี้ การไหลย้อนของกรดเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งทั้งในคนปกติ และผู้ป่วยโรคกรดไหลย้อน แต่ผู้ป่วยโรคกรดไหลย้อนนั้นของเหลวที่ไหลย้อนจะมีกรดมากกว่าและไหลย้อนไปที่ระดับสูงกว่าในหลอดอาหาร รวมทั้งกรดคงอยู่ในหลอดอาหารนานกว่า

ผู้ที่เป็นกรดไหลย้อนจะมีอาการเจ็บหน้าอก ปวดแสบร้อนที่ตรงกลางหน้าอก หลังกระดูกหน้าอก เริ่มปวดจากบริเวณท้องส่วนบนและลามขึ้นไปที่คอ และมักจะมีอาการแย่ลงหลังรับประทานอาหาร และมีอาการต่อเนื่องนานประมาณ 2 ชั่วโมง รู้สึกขมในปาก และรู้สึกแน่นหรือมีอาหารจุกอยู่ที่คอค่ะ

คำแนะนำ

สำหรับผู้ที่เป็นโรคหรือเข้าข่ายอาการกรดไหลย้อนนะคะ

  • ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติและพยายามลดน้ำหนักส่วนเกิน ผู้ที่มีน้ำหนักเกินและผู้ที่เป็นโรคอ้วนมีโอกาสเป็นโรคกรดไหลย้อนมากกว่าผู้ที่มีน้ำหนักปกติ
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารมื้อใหญ่ เพราะจะทำให้เพิ่มปริมาณการหลั่งกรด
  • หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้น เช่น อาหารที่มีไขมันมาก ช็อกโกแลต กาแฟ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาหารที่มีสะระแหน่ อาหารเผ็ด ผลไม้รสเปรี้ยว เช่น ส้ม มะนาวและอาหารที่มีมะเขือเทศเป็นส่วนประกอบหลัก เพราะอาหารเหล่านี้ลดประสิทธิภาพของกล้ามเนื้อหูรูดหลอดอาหารส่วนล่าง
  • หยุดสูบบุหรี่ เพราะการสูบบุหรี่ทำให้กล้ามเนื้อหูรูดหลอดอาหารส่วนล่างอ่อนแอลง และเพิ่มโอกาสในการเกิดกรดไหลย้อน
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารในช่วงระยะเวลา 3 ชั่วโมงก่อนนอน เพื่อให้ท้องว่างและการผลิตกรดลดลง ไม่ควรนอนหลังจากรับประทานอาหารทันที
  • ยกระดับศีรษะเวลานอนให้สูงกว่าส่วนอื่นๆ ของร่างกาย เพื่อป้องกันการเกิดกรดไหลย้อน
  • การยืนตัวตรงหรือนั่งหลังตรง ช่วยทำให้อาหารและกรดไม่ไหลย้อนกลับไปที่หลอดอาหาร
  • หลีกเลี่ยงการงอตัว ก้มตัว ในขณะที่กระเพาะอาหารเต็ม
  • หลีกเลี่ยงการใส่เสื้อผ้าหรือเข็มขัดที่รัดแน่น เพื่อป้องกันการเกิดแรงกดต่อกระเพาะอาหารและกล้ามเนื้อหูรูดหลอดอาหารส่วนล่าง

การรักษา : ทานยาลดกรด , การเคลือบกระเพาะอาหาร, Histamine-2 receptor blocker, Proton pump inhibitor (PPI)

ข้อมูลจาก HealthToday

2/09/2554

แพ้นมวัว รับมือได้...แค่รู้วิธี

            • ทำไมเด็กไทยแพ้นมวัวมากขึ้น

            การแพ้นมวัว เป็นปัญหาที่พบได้มากขึ้นในเด็กไทย ประมาณ 20,000 คนต่อปี เนื่องจากปัจจุบันนี้คุณแม่มีแนวโน้มที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่น้อยลงอย่างมาก และเริ่มให้ลูกดื่มนมผสมเร็วขึ้น เพราะต้องไปทำงานนอกบ้าน จึงเป็นการเพิ่มโอกาสให้เด็กได้รับโปรตีนจากนมวัวตั้งแต่แรกเกิด ประกอบกับปัจจัยที่ระบบการย่อยอาหารของเด็กทารกยังไม่สมบูรณ์ ทำให้โปรตีนจากนมวัวไปกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของเด็กทารก จนก่อให้เกิดปฏิกิริยาภูมิแพ้ตามมาได้

            • ถ้าลูกแพ้นมวัวจะมีอาการอย่างไร

            ปฏิกิริยาแพ้โปรตีนจากนมวัวสามารถก่อให้เกิดความผิดปกติในเด็กได้หลายรูปแบบ ซึ่งอาการผิดปกติที่แสดงออกมาอาจจะแยกได้ยากจากการเจ็บป่วยด้วยสาเหตุอื่นๆ อาการที่พบบ่อยได้แก่ ผื่นผิวหนังอักเสบ ภูมิแพ้ ผื่นลมพิษ จาม น้ำมูกไหล ไอ มีเสมหะมากในคอและหลอดลม หอบ เหนื่อยเป็นประจำ ท้องร่วงเป็นๆหายๆ หรือเรื้อรัง ปวดท้องร้องกวนเป็นๆ หายๆ ท้องผูก ร้องกวนงอแง ไม่ค่อยยอมกินนมโดยไม่ทราบสาเหตุ หรือน้ำหนักไม่ขึ้น เลี้ยงไม่โต เป็นต้น อาการต่างๆดังกล่าว อาจพบได้พร้อมๆกันหรืออาจจะมีอาการเพียงอย่างเดียวก็ได้ ด้วยความที่มีปัญหาไม่เฉพาะเจาะจึงทำให้ปัญหานี้มักถูกมองข้ามหรือได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคต่างกันไปได้

            • ลูกแพ้นมวัวจะรักษาอย่างไร

            การรักษาที่ดีที่สุดคือการหลีกเลี่ยงนมวัว และผลิตภัณฑ์ที่มีนมวัวเป็นส่วนผสม เช่น ขนมเค้ก เนย ชีส ช็อกโกแลต เป็นต้น คุณพ่อคุณแม่ต้องให้ลูกหยุดกินนมวัว แล้วให้นมชนิดที่ใช้รักษาโรคแพ้นมวัวได้ เช่น นมวัวที่ผ่านกระบวนการย่อยพิเศษจนไม่ก่อให้เกิดอาการแพ้ หรือนมถั่วเหลืองที่ปรับสูตรแล้ว ซึ่งได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเป็นนมที่ใช้ทดแทนนมวัวได้ดีมีสารอาหารครบถ้วนเหมาะแก่การเจริญเติบโตของเด็ก สำหรับเด็กที่อายุน้อยกว่า 1 ปี ไม่แนะนำให้กินน้ำเต้าหู้ เป็นอาหารหลัก เพราะมีสารอาหารไม่ครบถ้วน และไม่เพียงพอต่อการเจริญเติบโต และพัฒนาการของเด็ก

            • เด็กที่แพ้นมวัวจะมีโอกาสกลับมากินนมวัวได้อีกหรือไม่

            เด็กที่แพ้นมวัว เมื่อหยุดกินนมวัวอย่างจริงจังแล้วจะมีโอกาสหายขาดจากการแพ้นมวัว และสามารถกลับมากินนมวัวได้เหมือนเด็กปกติ โดยทั่วไปเด็กที่แพ้นมวัวประมาณร้อยละ 90 จะหายเมื่ออายุมากกว่า 3 ปีขึ้นไป

            ข้อมูลจาก โรงพยาบาลนครธน

            1/28/2554

            ดูแลสุขภาพผมง่ายๆด้วยวิตามิน



            ผมหงอก คันศีรษะ ศีรษะล้าน มีทางแก้ด้วย ไบโอติน (โคเอนไซม์อาร์หรือวิตามินเอช)ไบโอติเป็นสมาชิกในตระกูลบีรวม ซึ่งสามารถละลายได้ในน้ำและมีสารซัลเฟอร์เป็นส่วนประกอบ ข้อดีของวิตามินชนิดนี้คือ จะช่วยป้องกันผมหงอก ช่วยในการป้องกันและรักษาโรคเกี่ยวกับเส้นผมและหนังศีรษะล้าน บรรเทาอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ บรรเทาอาการผื่นผิวหนังอักเสบ ผื่นคันและยังช่วยป้องกันและรักษาเล็กแห้งเปราะได้อีกค่ะ

            แหล่งจากธรรมชาติที่ดีที่สุด มาจาก ตับวัว ไข่แดง แป้งถั่วเหลือง บริเวอร์ยีสต์ นม เนยถั่ว และข้าวที่ไม่ผ่านการขัดสี

            ถ้าต้องการรับประทานอาหารเสริม ไบโอตินมักรวมอยู่ในวิตามินบีรวมและวิตามินรวมทั่วไป ขนาดที่รับประทานโดยทั่วไป คือ 25-300 มคก. ต่อวัน

            ข้อควรระวัง ไข่ขาวดิบ ยาในกลุ่มซัลฟา ฮอร์โมนเอสโทรเจน อาหารที่ผ่านกระบวนการแปรรูป และแอลกอฮอล์ จะเป็นตัวขัดขวางการดูดซึมไบโอติน ฉะนั้นควรหลีกเลี่ยงไม่ให้ทานคู่กันค่ะ

            อ้างอิงข้อมูลจาก วิตามินไบเบิล

            1/25/2554

            วิตามินซี

            Vitamin C หรือ วิตามินซี เป็นวิตามินที่แสนอัศจรรย์ที่ละลายน้ำได้ มีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า สารต้านอนุมูลอิสระของสารต้านอนุมูลอิสระ เพราะมันทำหน้าที่ช่วยปกป้องสารต้านอนุมูลอิสระอื่นๆในร่างกาย ช่วยยับยั้งการสร้างสารก่อมะเร็งไนโตรซามีน ลดความเสี่ยงของมะเร็งหลายชนิด เสริมสร้างการทำงานของเซลล์ที่ทำหน้าที่เป็นภูมิคุ้มกัน ป้องกันการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชันของแอลดีแอลที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย และช่วยลดโอกาสของการเกิดหัวใจวายเฉียบพลัน

            ในเรื่องความงามแล้ววิตามินซียังเป็นตัวช่วยให้ Collagen ดูดซึมได้ดียิ่งขึ้น ดังนั้นหากรับประทานอาหารเสริมประเภทนี้อยู่แล้ว ควรจะเช็คดูให้แน่ใจว่ามีส่วนผสมของวิตามินซีอยู่ด้วยค่ะ

            อ้างอิงข้อมูลจาก วิตามินไบเบิล

            1/24/2554

            ผ่าตัดลดอ้วน นวัตกรรมใหม่เพื่อการลดพุง



            โรคอ้วน ถึงว่าเป็นภาวะที่อันตรายต่อสุขภาพอย่างมาก เนื่องจากเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดโรคเรื้้อรังหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมัสผิดปกติในเส้นเลือด กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด และ.....อีกมากมาย ส่วนใหญ่แม้ว่าผู้ป่วยจะพยายามลดความอ้วนด้วยวิธีต่างๆมากมาย ไม่ว่าจะการออกกำลังกาย ลดอาหาร ทานยาลดความอ้วน ก็มักจะไม่ประสบผลสำเร็จ จึงต้องมีเทคโนโลยีทางการแพทย์เข้ามาช่วยแก้ปัญหานี้กับผู้ป่วยโรคอ้วน ซึ่งก็คือการผ่าตัดลดความอ้วน หรือ Bariatric Surgery ที่ใช้กับอย่างแพร่หลายมานานแล้วในต่างประเทศ

            การผ่าตัดลดความอ้วน ไม่ใช่การจับคนอ้วนทุกคนมาผ่าตัด แต่มีหลักการว่า จะทำการผ่าตัดกับคนไขที่มีอายุ 18-60 ปี โดยมีข้อบ่งชี้ คือ ผู้ป่วยมีดัชนีมวลกายเข้าข่ายหรือไม่มีประวัติอ้วนมานานเกิน 5 ปี เคยมีประวัติล้มเหลวจากการลดน้ำหนักด้วยวิธีอื่น ทั้งจากสถาบันหรือคลินิกลดน้ำหนัก กินยาลดน้ำหนักแล้วไม่ได้ผล และต้องเป็นคนไข้ที่สามารถปฏิบัติและให้ความร่วมมือในการรักษาได้ เพราะการผ่าตัดทุกอย่างย่อมมีภาวะแทรกซ้อน ฉะนั้นผู้เข้ารับการผ่าตัดจะต้องให้ความร่วมมือในการรักษาอย่างเคร่งครัด วิธีการผ่าตัดที่นิยมมีอยู่ 2 วิธี คือ
            1. Roux-en-Y gastric bypass (RYGB) หรือ gastric bypass ซึ่งเป็นการผ่าตัดที่ทำกันมาก และประสบความสำเร็จมากที่สุด โดยเป็นการผ่าตัดลดขนาดกระเพาะอาหารส่วนต้น ให้แยกการติดต่อจากกระเพาะอาหารส่วนปลายอย่างเด็ดขาด โดยดึงเอาลำไส้เล็กขึ้นมาต่อกับกระเพาะอาหารส่วนต้น เพื่อให้อาหารจากกระเพาะส่วนต้นผ่านเข้าสู่ลำไส้เล็ก ด้วยการอ้อมผ่าน (Bypass) กระเพาะอาหารส่วนปลาย ทำให้กระเปาะของกระเพาะใหม่มีขนาดเล็กลงจึงรับอาหารได้ไม่มาก ทำให้มีการดูดซึมอาหารและแคลอรีเข้าสู่ร่างกายลดลง
            2. Adjustable gastric banding (AGB) หรือ gastric banding คือ การผ่าตัดลดขนาดกระเพาะอาหาร โดยใช้ที่รัดกระเพาะที่ปรับเปลี่ยนขนาดกระเพาะได้ตามต้องการ ขึ้นตอนการผ่าตัดจะใช้เวลาตั้งแต่ 2-3 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับผู้ป่วยว่าอ้วนมากหรือน้อย โดยต้องนอนโรงพยาบาลประมาณ 3-4 วันก่อนจะกลับบ้านได้ ที่สำคัญผู้เข้ารับการผ่าตัดต้องมีการเปลี่ยนวิถีชีวิตรวมถึงต้องควบคุมการรับประทานอาหาร เพราะไม่เช่นนั้นแล้ว การผ่าตัดเพื่อลดความอ้วนก็จะไม่เกิดผลอะไรเลย
            ข้อมูลจาก HealthToday