2/13/2554

กรดไหลย้อน โรคฮิตของคนเมือง

โรคกรดไหลย้อน (Gastroesophageal Reflux Disease)

หรือ เรียกสั้นๆ ว่า GERD เป็นภาวะที่ของเหลวในกระเพาะอาหารไหลย้อนไปสู่หลอดอาหาร ทำให้หลอดอาหารอักเสบและเป็นแผล โดยของเหลวที่ไหลย้อนนี้ประกอบด้วยกรดและเปปซิน (pepsin) ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ย่อยโปรตีนในกระเพาะอาหาร เชื่อกันว่ากรดเป็นส่วนประกอบที่อันตรายที่สุดของของเหลวที่ไหลย้อนนี้ การไหลย้อนของกรดเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งทั้งในคนปกติ และผู้ป่วยโรคกรดไหลย้อน แต่ผู้ป่วยโรคกรดไหลย้อนนั้นของเหลวที่ไหลย้อนจะมีกรดมากกว่าและไหลย้อนไปที่ระดับสูงกว่าในหลอดอาหาร รวมทั้งกรดคงอยู่ในหลอดอาหารนานกว่า

ผู้ที่เป็นกรดไหลย้อนจะมีอาการเจ็บหน้าอก ปวดแสบร้อนที่ตรงกลางหน้าอก หลังกระดูกหน้าอก เริ่มปวดจากบริเวณท้องส่วนบนและลามขึ้นไปที่คอ และมักจะมีอาการแย่ลงหลังรับประทานอาหาร และมีอาการต่อเนื่องนานประมาณ 2 ชั่วโมง รู้สึกขมในปาก และรู้สึกแน่นหรือมีอาหารจุกอยู่ที่คอค่ะ

คำแนะนำ

สำหรับผู้ที่เป็นโรคหรือเข้าข่ายอาการกรดไหลย้อนนะคะ

  • ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติและพยายามลดน้ำหนักส่วนเกิน ผู้ที่มีน้ำหนักเกินและผู้ที่เป็นโรคอ้วนมีโอกาสเป็นโรคกรดไหลย้อนมากกว่าผู้ที่มีน้ำหนักปกติ
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารมื้อใหญ่ เพราะจะทำให้เพิ่มปริมาณการหลั่งกรด
  • หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้น เช่น อาหารที่มีไขมันมาก ช็อกโกแลต กาแฟ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาหารที่มีสะระแหน่ อาหารเผ็ด ผลไม้รสเปรี้ยว เช่น ส้ม มะนาวและอาหารที่มีมะเขือเทศเป็นส่วนประกอบหลัก เพราะอาหารเหล่านี้ลดประสิทธิภาพของกล้ามเนื้อหูรูดหลอดอาหารส่วนล่าง
  • หยุดสูบบุหรี่ เพราะการสูบบุหรี่ทำให้กล้ามเนื้อหูรูดหลอดอาหารส่วนล่างอ่อนแอลง และเพิ่มโอกาสในการเกิดกรดไหลย้อน
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารในช่วงระยะเวลา 3 ชั่วโมงก่อนนอน เพื่อให้ท้องว่างและการผลิตกรดลดลง ไม่ควรนอนหลังจากรับประทานอาหารทันที
  • ยกระดับศีรษะเวลานอนให้สูงกว่าส่วนอื่นๆ ของร่างกาย เพื่อป้องกันการเกิดกรดไหลย้อน
  • การยืนตัวตรงหรือนั่งหลังตรง ช่วยทำให้อาหารและกรดไม่ไหลย้อนกลับไปที่หลอดอาหาร
  • หลีกเลี่ยงการงอตัว ก้มตัว ในขณะที่กระเพาะอาหารเต็ม
  • หลีกเลี่ยงการใส่เสื้อผ้าหรือเข็มขัดที่รัดแน่น เพื่อป้องกันการเกิดแรงกดต่อกระเพาะอาหารและกล้ามเนื้อหูรูดหลอดอาหารส่วนล่าง

การรักษา : ทานยาลดกรด , การเคลือบกระเพาะอาหาร, Histamine-2 receptor blocker, Proton pump inhibitor (PPI)

ข้อมูลจาก HealthToday

2/09/2554

แพ้นมวัว รับมือได้...แค่รู้วิธี

            • ทำไมเด็กไทยแพ้นมวัวมากขึ้น

            การแพ้นมวัว เป็นปัญหาที่พบได้มากขึ้นในเด็กไทย ประมาณ 20,000 คนต่อปี เนื่องจากปัจจุบันนี้คุณแม่มีแนวโน้มที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่น้อยลงอย่างมาก และเริ่มให้ลูกดื่มนมผสมเร็วขึ้น เพราะต้องไปทำงานนอกบ้าน จึงเป็นการเพิ่มโอกาสให้เด็กได้รับโปรตีนจากนมวัวตั้งแต่แรกเกิด ประกอบกับปัจจัยที่ระบบการย่อยอาหารของเด็กทารกยังไม่สมบูรณ์ ทำให้โปรตีนจากนมวัวไปกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของเด็กทารก จนก่อให้เกิดปฏิกิริยาภูมิแพ้ตามมาได้

            • ถ้าลูกแพ้นมวัวจะมีอาการอย่างไร

            ปฏิกิริยาแพ้โปรตีนจากนมวัวสามารถก่อให้เกิดความผิดปกติในเด็กได้หลายรูปแบบ ซึ่งอาการผิดปกติที่แสดงออกมาอาจจะแยกได้ยากจากการเจ็บป่วยด้วยสาเหตุอื่นๆ อาการที่พบบ่อยได้แก่ ผื่นผิวหนังอักเสบ ภูมิแพ้ ผื่นลมพิษ จาม น้ำมูกไหล ไอ มีเสมหะมากในคอและหลอดลม หอบ เหนื่อยเป็นประจำ ท้องร่วงเป็นๆหายๆ หรือเรื้อรัง ปวดท้องร้องกวนเป็นๆ หายๆ ท้องผูก ร้องกวนงอแง ไม่ค่อยยอมกินนมโดยไม่ทราบสาเหตุ หรือน้ำหนักไม่ขึ้น เลี้ยงไม่โต เป็นต้น อาการต่างๆดังกล่าว อาจพบได้พร้อมๆกันหรืออาจจะมีอาการเพียงอย่างเดียวก็ได้ ด้วยความที่มีปัญหาไม่เฉพาะเจาะจึงทำให้ปัญหานี้มักถูกมองข้ามหรือได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคต่างกันไปได้

            • ลูกแพ้นมวัวจะรักษาอย่างไร

            การรักษาที่ดีที่สุดคือการหลีกเลี่ยงนมวัว และผลิตภัณฑ์ที่มีนมวัวเป็นส่วนผสม เช่น ขนมเค้ก เนย ชีส ช็อกโกแลต เป็นต้น คุณพ่อคุณแม่ต้องให้ลูกหยุดกินนมวัว แล้วให้นมชนิดที่ใช้รักษาโรคแพ้นมวัวได้ เช่น นมวัวที่ผ่านกระบวนการย่อยพิเศษจนไม่ก่อให้เกิดอาการแพ้ หรือนมถั่วเหลืองที่ปรับสูตรแล้ว ซึ่งได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเป็นนมที่ใช้ทดแทนนมวัวได้ดีมีสารอาหารครบถ้วนเหมาะแก่การเจริญเติบโตของเด็ก สำหรับเด็กที่อายุน้อยกว่า 1 ปี ไม่แนะนำให้กินน้ำเต้าหู้ เป็นอาหารหลัก เพราะมีสารอาหารไม่ครบถ้วน และไม่เพียงพอต่อการเจริญเติบโต และพัฒนาการของเด็ก

            • เด็กที่แพ้นมวัวจะมีโอกาสกลับมากินนมวัวได้อีกหรือไม่

            เด็กที่แพ้นมวัว เมื่อหยุดกินนมวัวอย่างจริงจังแล้วจะมีโอกาสหายขาดจากการแพ้นมวัว และสามารถกลับมากินนมวัวได้เหมือนเด็กปกติ โดยทั่วไปเด็กที่แพ้นมวัวประมาณร้อยละ 90 จะหายเมื่ออายุมากกว่า 3 ปีขึ้นไป

            ข้อมูลจาก โรงพยาบาลนครธน