1/28/2554

ดูแลสุขภาพผมง่ายๆด้วยวิตามิน



ผมหงอก คันศีรษะ ศีรษะล้าน มีทางแก้ด้วย ไบโอติน (โคเอนไซม์อาร์หรือวิตามินเอช)ไบโอติเป็นสมาชิกในตระกูลบีรวม ซึ่งสามารถละลายได้ในน้ำและมีสารซัลเฟอร์เป็นส่วนประกอบ ข้อดีของวิตามินชนิดนี้คือ จะช่วยป้องกันผมหงอก ช่วยในการป้องกันและรักษาโรคเกี่ยวกับเส้นผมและหนังศีรษะล้าน บรรเทาอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ บรรเทาอาการผื่นผิวหนังอักเสบ ผื่นคันและยังช่วยป้องกันและรักษาเล็กแห้งเปราะได้อีกค่ะ

แหล่งจากธรรมชาติที่ดีที่สุด มาจาก ตับวัว ไข่แดง แป้งถั่วเหลือง บริเวอร์ยีสต์ นม เนยถั่ว และข้าวที่ไม่ผ่านการขัดสี

ถ้าต้องการรับประทานอาหารเสริม ไบโอตินมักรวมอยู่ในวิตามินบีรวมและวิตามินรวมทั่วไป ขนาดที่รับประทานโดยทั่วไป คือ 25-300 มคก. ต่อวัน

ข้อควรระวัง ไข่ขาวดิบ ยาในกลุ่มซัลฟา ฮอร์โมนเอสโทรเจน อาหารที่ผ่านกระบวนการแปรรูป และแอลกอฮอล์ จะเป็นตัวขัดขวางการดูดซึมไบโอติน ฉะนั้นควรหลีกเลี่ยงไม่ให้ทานคู่กันค่ะ

อ้างอิงข้อมูลจาก วิตามินไบเบิล

1/25/2554

วิตามินซี

Vitamin C หรือ วิตามินซี เป็นวิตามินที่แสนอัศจรรย์ที่ละลายน้ำได้ มีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า สารต้านอนุมูลอิสระของสารต้านอนุมูลอิสระ เพราะมันทำหน้าที่ช่วยปกป้องสารต้านอนุมูลอิสระอื่นๆในร่างกาย ช่วยยับยั้งการสร้างสารก่อมะเร็งไนโตรซามีน ลดความเสี่ยงของมะเร็งหลายชนิด เสริมสร้างการทำงานของเซลล์ที่ทำหน้าที่เป็นภูมิคุ้มกัน ป้องกันการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชันของแอลดีแอลที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย และช่วยลดโอกาสของการเกิดหัวใจวายเฉียบพลัน

ในเรื่องความงามแล้ววิตามินซียังเป็นตัวช่วยให้ Collagen ดูดซึมได้ดียิ่งขึ้น ดังนั้นหากรับประทานอาหารเสริมประเภทนี้อยู่แล้ว ควรจะเช็คดูให้แน่ใจว่ามีส่วนผสมของวิตามินซีอยู่ด้วยค่ะ

อ้างอิงข้อมูลจาก วิตามินไบเบิล

1/24/2554

ผ่าตัดลดอ้วน นวัตกรรมใหม่เพื่อการลดพุง



โรคอ้วน ถึงว่าเป็นภาวะที่อันตรายต่อสุขภาพอย่างมาก เนื่องจากเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดโรคเรื้้อรังหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมัสผิดปกติในเส้นเลือด กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด และ.....อีกมากมาย ส่วนใหญ่แม้ว่าผู้ป่วยจะพยายามลดความอ้วนด้วยวิธีต่างๆมากมาย ไม่ว่าจะการออกกำลังกาย ลดอาหาร ทานยาลดความอ้วน ก็มักจะไม่ประสบผลสำเร็จ จึงต้องมีเทคโนโลยีทางการแพทย์เข้ามาช่วยแก้ปัญหานี้กับผู้ป่วยโรคอ้วน ซึ่งก็คือการผ่าตัดลดความอ้วน หรือ Bariatric Surgery ที่ใช้กับอย่างแพร่หลายมานานแล้วในต่างประเทศ

การผ่าตัดลดความอ้วน ไม่ใช่การจับคนอ้วนทุกคนมาผ่าตัด แต่มีหลักการว่า จะทำการผ่าตัดกับคนไขที่มีอายุ 18-60 ปี โดยมีข้อบ่งชี้ คือ ผู้ป่วยมีดัชนีมวลกายเข้าข่ายหรือไม่มีประวัติอ้วนมานานเกิน 5 ปี เคยมีประวัติล้มเหลวจากการลดน้ำหนักด้วยวิธีอื่น ทั้งจากสถาบันหรือคลินิกลดน้ำหนัก กินยาลดน้ำหนักแล้วไม่ได้ผล และต้องเป็นคนไข้ที่สามารถปฏิบัติและให้ความร่วมมือในการรักษาได้ เพราะการผ่าตัดทุกอย่างย่อมมีภาวะแทรกซ้อน ฉะนั้นผู้เข้ารับการผ่าตัดจะต้องให้ความร่วมมือในการรักษาอย่างเคร่งครัด วิธีการผ่าตัดที่นิยมมีอยู่ 2 วิธี คือ
1. Roux-en-Y gastric bypass (RYGB) หรือ gastric bypass ซึ่งเป็นการผ่าตัดที่ทำกันมาก และประสบความสำเร็จมากที่สุด โดยเป็นการผ่าตัดลดขนาดกระเพาะอาหารส่วนต้น ให้แยกการติดต่อจากกระเพาะอาหารส่วนปลายอย่างเด็ดขาด โดยดึงเอาลำไส้เล็กขึ้นมาต่อกับกระเพาะอาหารส่วนต้น เพื่อให้อาหารจากกระเพาะส่วนต้นผ่านเข้าสู่ลำไส้เล็ก ด้วยการอ้อมผ่าน (Bypass) กระเพาะอาหารส่วนปลาย ทำให้กระเปาะของกระเพาะใหม่มีขนาดเล็กลงจึงรับอาหารได้ไม่มาก ทำให้มีการดูดซึมอาหารและแคลอรีเข้าสู่ร่างกายลดลง
2. Adjustable gastric banding (AGB) หรือ gastric banding คือ การผ่าตัดลดขนาดกระเพาะอาหาร โดยใช้ที่รัดกระเพาะที่ปรับเปลี่ยนขนาดกระเพาะได้ตามต้องการ ขึ้นตอนการผ่าตัดจะใช้เวลาตั้งแต่ 2-3 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับผู้ป่วยว่าอ้วนมากหรือน้อย โดยต้องนอนโรงพยาบาลประมาณ 3-4 วันก่อนจะกลับบ้านได้ ที่สำคัญผู้เข้ารับการผ่าตัดต้องมีการเปลี่ยนวิถีชีวิตรวมถึงต้องควบคุมการรับประทานอาหาร เพราะไม่เช่นนั้นแล้ว การผ่าตัดเพื่อลดความอ้วนก็จะไม่เกิดผลอะไรเลย
ข้อมูลจาก HealthToday

ไขมันพอกตับ Fatty Liver

ไขมันพอกตับ (fatty liver หรือ steatosis)
คือ ภาวะที่มีการสะสมไขมันมากเกินไปในเซลล์ตับ อันหมายถึงการมีไขมันในตับมากเกินกว่าร้อยละ 5 ของน้ำหนักตับ โดยมากกว่าครึ่งหนึ่งของไขมันที่มากเกินในตับจะเป็นไตรกลีเซอไรด์ หากมีการอักเสบและตับโตร่วมด้วยจะเรียกว่า Steatohepatitis โดยปกติแล้วภาวะไขมันพอกตับมักพบในผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์จัด แต่ก็อาจพบได้ในผู้ที่ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ เช่น ผู้ที่เป็นโรคอ้วนและโรคเบาหวาน นอกจากนี้ภาวะไขมันพอกพับยังอาจเป็นผลจากความผิดปกติอื่นๆ เช่น ตับอักเสบจากไวรัส โรคตับจากการดื่มแอลกอฮอล์จัด ภาวะทุพโภชนาการ และการใช้ยาบางชนิด ผู้ที่มีไขมันพอกตับอาจรู้สึกเครียดหรืออ่อนเพลีย และรู้สึกอึดอัดบริเวณตับ หากไม่รักษาอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ตับแข็ง

คำแนะนำ
- หากมีภาวะไขมันพอกตับเกิดจากการดื่มสุราจัด ควรหยุดดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากแอลกอฮอล์สามารถลดอัตราเร็วของกระบวนการเมทาบอลิซึมและการปลดปล่อยไขมัน ทำให้เกิดไขมันพอกใตับ

- หากภาวะไขมันพอกตับเกิดเนื่องจากการใช้ยา ควรหยุดใช้ยา และปรึกษาแพทย์ถึงการเลือกใช้ยาชนิดอื่นแทน

- หากผู้ป่วยอ้วน หรือมีน้ำหนักเกิน ควรปรับเปลี่ยนอาหารและออกกำลังกายให้มากขึ้น รับประทานอาหารให้น้อยลง หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูง อาการอักเสบของตับมักทุเลาลงเมื่อน้ำหนักตัวลดลง โดยเฉพาะเมื่อลดจนน้ำหนักตัวอยู่ในเกณฑ์ปกติ

- ขอคำแนะนำจากแพทย์เกี่ยวกับการรับประทานอาหารที่เหมาะสม การอดอาหาร และการขาดโปรตีนก็อาจทำให้มีไขมันเพิ่มขึ้นในตับ

- หากภาวะไขมันพอกตับเกิดจากความผิดปกติทางเมทาบอลิซึมต้องรักษาโรคนั้นๆ ด้วย เช่น ผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานต้องควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด โดยการควบคุมปริมาณน้ำตาลและอาหารจำพวกแป้งที่รับประทานตามที่แพทย์หรือนักโภชนากรแนะนำ

ข้อมูลจาก HealthToday

1/06/2554

สาเหตุของ Office Syndrome

Office syndrome เป็นปัญหาสุขภาพที่พบบ่อยในสังคมเมืองตามรูปแบบ lifestyle ของคนที่เปลี่ยนมาเป็นมนุษย์เงินเดือนทำงานอยู่ในออฟฟิศ อาการหลักคือ อาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อไม่ว่าจะปวดหัว ปวดคอ ปวดสะบัก ปวดหลัง รวมถึงอาการอ่อนเพลียในรายที่เป็นมานาน จนบางคนพูดว่า เป็นอาการปวดก่อนถึงวัยอันสมควรหรือวัยเสื่อม เพราะเกิดขึ้นกับหนุ่มสาววัยทำงาน

สาเหตุหลักของ Office syndrome มีเพียงสองอย่าง คือ หนึ่ง ความเครียดทางร่างกายโดยเฉพาะกล้ามเนื้อที่ถูกใช้งานในรูปแบบเดิมๆ แม้จะเป็นงานนั่งโต๊ะที่ดูเบาๆ สบายๆ ส่วนสาเหตุที่สอง คือ ความเครียดทางด้านจิตใจที่ค่อยๆ สั่งสมทีละน้อยมาเป็นแรมเดือนแรมปี เพราะคนเมืองสมัยนี้ความเครียดมักอยู่แค่เอื้อม แต่อาจจะนึกไม่ถึงเพราะเป็นความเครียดแบบผ่อนส่ง จึงอยากนำเสนอวิธีการสำรวจตนเองสำหรับผู้ที่มีปัญหา Office syndrome ว่า มีสาเหตุหลักมาจากร่างกายหรือจิตใจ เพราะบางครั้งดูผิวเผินอาจแยกลำบากเหมือนหมอกและควัน แต่คงไม่เกินความสามารถที่เราจะค้นหาได้ด้วยตัวเองค่ะ

สำหรับเคล็ดลับในการค้นหาสาเหตุที่แท้จริงนั้น คงต้องขอหยิบยกเรื่องราวที่ชาวออฟฟิศคุ้นเคยมาเป็นกรณีศึกษา สองกรณี คือ หนึ่ง ให้สังเกตจากกาานอนหลับ เพราะถ้าสาเหตุของอาการมาจากความเครียดของจิตใจ มักจะทำให้นอนไม่ค่อยหลับ หรือหลับๆตื่นๆ หรือฝันเยอะเพราะหลับไม่สนิท แต่ถ้าร่างกายเครียดจากความตรากตรำมากเกินไป พวกนี้จะหลับเป็นตาย ไม่อยากตื่น กรณีที่สอง ทำไมบางคนมีอาการปวดมากขึ้นเวลางานเข้า แต่บางคนกลับไม่สะทกสะท้าน ประโยคแรกตรงไปตรงมาเข้าใจง่ายและค้นหาสาเหตุได้ไม่ยาก และเมื่องานกลับเข้าสู่ภาวะปกติอาการก็มักจะทุเลาลง ส่วนประโยคหลังฟังแล้วอาจรู้สึกแปลกๆ ฉะนั้นก่อนอื่นจึงต้องขอขยายความคำว่า "ไม่สะทกสะท้าน" ว่าในที่นี้ไม่ได้หมายความถึงไม่มีอาการนะคะ ที่จริงมีอาการและอาจมีมากกว่าภาวะปกติด้วย แต่ประเด็นสำคัญที่ทำให้ไม่สะทกสะท้านอาจเกิดจากสาเหตุมากมายแตกต่างกันไปตามพื้นฐานตัวบุคคล แต่ทำให้ลืมปวด เพราะมัวใจจดจ่ออยู่ที่งานจนไม่ได้ใส่ใจกับเรื่องปวด ซึ่งพบได้ในคนที่สนุกกับการทำงาน หรืออาจมีรางวัลตอบแทนมาชดเชย ไม่ว่าจะเป็นเงินนอกเวลา หรือการก้าวสู่ตำแหน่งที่ดีกว่าเดิม แต่ปัญหาที่ตามมา คือ แล้วทำไมบางคนจึงไม่มีอาการลืมปวด ถ้าเข้าถึงกลไกของจิตใจในการตอบสนองกับปัญหาสุขภาพของมนุษย์ที่เรียกว่า fight or flight ที่แปลเป็นไทยให้เข้าใจง่าย คือ กล้าหรือกลัว ก็จะพบคำตอบได้อย่างง่ายๆ คือ ถ้าไม่กลัวก็กล้าที่จะลุยและลืมปวดได้ชั่วคราว จึงเป็นเรื่องธรรมดาของ Offic syndrome ที่อธิบายได้ในช่วงงานเข้า แต่ถ้ากลัวก็ยิ่งกังวลแล้วยังต้องลุยงานต่อก็จะตรงกับประโยคแรกที่มีอาการปวดกำเริบจนอาจเก็บอาการไม่อยู่ เพราะเครียดทั้งกายและใจ บางคนถึงกับต้องไปหาหมอหรือลาป่วยกันทีเดียว

คนยุคใหม่ควรรู้และเข้าใจเรื่องสาเหตุและอาการหลักของ office syndrome เนื่องจากเป็นเรื่องใกล้ตัว หากอยากห่างไกลภาวะนี้ก็ต้องกายพร้อมใจพร้อม รับรองไม่ต้องถึงมือหมอ

ข้อมูลจาก รศ.นพ.ประดิษฐ์ ประทีปะวณิช

1/04/2554

เสริมวิตามินดีในผู้สูงอายุ

มูลนิธิโรคกระดูกพรุนนานาชาติได้ให้คำแนะนำในการเสริมวิตามินดีสำหรับผู้สูงอายุ เนื่องจากวิตามินดีมีความสำคัญต่อการพัฒนากระดูกและกล้ามเนื้อ และเป็นสิ่งจำเป็นในการคงความแข็งแรงของกระดูกและป้องกันการแตกหักของกระดูกอันเนื่องมาจากการหกล้มและกระดูกพรุน ซึ่งผู้สูงอายุเป็นกลุ่มที่พบภาวะกระดูกพรุนได้บ่อย

สำหรับการวัดระดับวิตามินดีในร่างกายจะใช้ค่าที่เรียกว่า "25(OH)D" หรือ 25 ไฮดรอกซีวิตามินดี ซึ่งเมื่ออายุมากขึ้น ระดับ 25(OH)D ในเลือดก็จะลดลง โดยพบว่าภาวะขาดวิตามินดีจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับกล้ามเนื้ออ่อนแรงในผู้สูงอายุทั้งหญิงและชาย ดังนั้นการเสริมวิตามินดีจะช่วยให้แขนขามีกำลังดีขึ้นและลดความเสี่ยงต่อการหกล้มได้

ข้อแนะนำ
1. ปริมาณวิตามินดีที่ผู้สูงอายุต้องการโดยเฉลี่ยเพื่อให้ได้ระดับของ 25(OH)D อยู่ที่ 75 นาโนโมลต่อลิตร หรือ 30 นาโนกรัมต่อมิลลิลิตร คือ 20-25 ไมโครกรัมต่อวัน หรือเท่ากับ 800-1,000 IU ต่อวัน

2. สำหรับผู้ที่เป็นโรคอ้วน กระดูกพรุน ไม่ค่อยโดนแสงแดด (เช่นอยู่แต่ในบ้าน หรือต้องนอนโรงพยาบาล) หรือมีการดูดซึมไม่ดี อาจต้องเพิ่มปริมาณวิตามินดีเป็น 50 ไมโครกรัมหรือ 2,000 IU ต่อวัน

3. สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงสูง แนะนำให้วัดระดับ 25(OH)D ก่อน ถ้าพบว่าขาดวิตามินดีจึงค่อยทำการเสริม

ข้อมูลจาก HealthToDay