6/13/2554

ผู้ใหญ่สมาธิสั้น

คุณเป็นแบบนี้หรือเปล่า?

- ขับรถหลงทาง โดยเฉพาะลงทางด่วนผิดบ่อย

- เมื่อมีการประชุม คุณมักจะนำออกนอกประเด็น จำข้อมูลผิด มองข้ามเนื้อหาหลักที่ประชุมกันอยู่

- ขณะทำกิจกรรมกับคนหมู่มากที่ต้องนั่งนานๆ เช่น การเรียนหนังสือ การดูคอนเสิร์ต คุณมักต้องเปลี่ยนที่นั่งอยู่บ่อยครั้งเพราะรู้สึกไม่สบาย

- เขินอายบ่อยๆ เมื่อสนทนากับผู้อื่นเพราะไม่ได้ใส่ใจคำพูดของอีกฝ่ายหนึ่ง

- ลืมของใช้ส่วนตัวไว้ตามสถานที่ต่างๆ เป็นต้น

หากสิ่งที่กล่าวมาข้างต้นเกิดขึ้นกับคุณบ่อยครั้ง นอกจากจะส่งผลกระทบโดยตรงกับคุณ ยังทำให้ความสัมพันธ์กับบุคคลรอบข้างไม่ว่าจะเป็นคนในครอบครัวหรือเพื่อนร่วมงานแย่ลงไปด้วย นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่อการทำงานและการใช้ชีวิตประจำวันของคุณโดยตรง ทำให้การทำงานไม่สำเร็จตามวัตถุประสงค์ ซึ่งส่งผลกระทบให้

- บางคนถูกมองว่าเป็นคนขาดความรับผิดชอบและผัดวันประกันพรุ่ง

- หัวหน้ามักต่อว่าเกี่ยวกับการทำงานว่าไม่มีประสิทธิภาพ

- เป็นผู้บริหารร้อยโครงการ คิดเร็ว เปลี่ยนแปลงเร็ว มีอารมณ์หงุดหงิดง่าย

- เป็นคนใจร้อน ไม่สามารถรอคอย เช่น การยืนต่อแถวยาวๆ ได้

- อ่านหนังสือมักผิดพลาด มักสะกดคำหรือคิดเลขผิดบ่อยๆ

- บางคนอาจมีอาการทำอะไรเชื่องช้าไปทุกอย่าง


ทั้งหมดที่กล่าวมานี้เป็นแค่ส่วนหนึ่งของโรคสมาธิสั้น อาการของโรคสมาธิสั้นจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ ส่วนการรักษาโรคสมาธิสั้นให้ได้ผลดีนั้นต้องเริ่มตั้งแต่วัยเด็กเล็กโดยเฉพาะเด็กก่อนวัยเรียนถึงวัยรุ่นตอนปลาย ทำได้โดยการสังเกตพฤติกรรม โดยที่พ่อแม่หรือครูจะเป็นคนที่สามารถสังเกตเห็นว่าเด็กซนอยู่ไม่นิ่งและมีผลการเรียนที่แย่ลง

อย่างไรก็ดีผู้ใหญ่ที่เป็นโรคสมาธิสั้นหากได้รับการวินิจฉัยที่เร็วและได้รับการรักษาก็จะทำให้ผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้ใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้ไม่ยากลำบาก

ผู้ใหญ่ป่วยเป็นโรคสมาธิสั้นมากน้อยแค่ไหน

มีผู้กล่าวไว้ว่า ผู้ใหญ่ที่มีอาการสมาธิสั้นเริ่มต้นมาจากเด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้นมาก่อน โดยมีความชุกอยู่ที่ 1-2% ซึ่งพบว่าครึ่งหนึ่งของเด็กสมาธิสั้นมักมีอาการอยู่ไม่นิ่งจนกระทั่งโตเป็นผู้ใหญ่แล้วอาการก็ยังคงปรากฎอยู่ถึง 30-80%


รู้ได้อย่างไรว่าป่วยเป็นโรคสมาธิสั้น

แพทย์จะทำการวินิจฉัยว่าผู้ป่วยเป็นโรคสมาธิสั้นหรือไม่จากหลักเกณฑ์ดังนี้

1. DSM-IV และ ICD-10 ที่ใช้วินิจฉัยสมาธิสั้นในเด็กนั้น ต้องใช้การสังเกตอาการแสดงออก พฤติกรรมและการซักประวัติโดยแพทย์ ซึ่งประวัติจะได้จากพ่อแม่และครูตั้งแต่เด็กก่อนวัยเรียน อย่างไรก็ดีอาการที่เห็นได้ชัดเจนและทำให้คิดถึงโรคสมาธิสั้นมากขึ้น เช่น ความไม่เอาใจใส่ อาการหุนหันพลันแล่น ความไม่รอบคอบและการขาดสมาธิ เป็นต้น

2. เกณฑ์มาตรฐานยูท่า Paul Wender และทีมงานได้พัฒนาเกณฑ์การวินิจฉัยโรคสมาธิ สั้นเพื่อ เป็นประโยชน์ในการวางแผนการรักษาโรคสมาธิสั้นในผู้ใหญ่ โดยเกณฑ์นี้ได้มาจากการซักประวัติอาการแสดงของโรคสมาธิสั้นในเด็กและในผู้ใหญ่ ซึ่งโดยสรุปแล้วจะต้องพบลักษณะอาการแสดง 2 อาการดังต่อไปนี้

1) ความไวของกล้ามเนื้อต่อสิ่งกระตุ้นและความวิตกกังวลภายในใจ (hyperacitivity)

• ไม่สามารถผ่อนคลายและทำกิจกรรมที่อยู่กับที่ได้นานๆ เช่น การนั่งอ่านหนังสือหรือการดูโทรทัศน์

• มีอาการวิตกกังวลและความรู้สึกกังวลที่มีอยู่ในใจซึ่งไม่สามารถแสดงออกมาอย่างชัดเจนได้

2) การขาดความเอาใจใส่ (inattention) เช่น การไม่สนใจผู้ร่วมสนทนา การอ่านหนังสือแต่จับใจความไม่ได้ เป็นต้น และสิ่งที่เห็นได้ชัด ในชีวิตประจำวัน คือ มักขี้ลืม วางของผิดที่เสมอๆ นอกจากนี้ยังพบ อาการได้อย่างน้อยสองข้อ ได้แก่

• ความบกพร่องทางอารมณ์ มีอารมณ์แปรปรวนต่อกันหลายชั่วโมงในหลายวัน มีความรู้สึกเบื่อหน่ายและไม่พอใจอย่างไม่มีเหตุผล

• การทำงานไม่ประสบความสำเร็จ เช่น ขาดระเบียบวินัย ไม่สามารถแก้ไขปัญหาหรือจัดการเรื่องเวลาได้ และไม่สามารถจดจ่อกับหน้าที่นานๆ ได้

• มีปัญหาทางด้านอารมณ์ มักจะโมโหง่ายและระเบิดออกมา

• อารมณ์หุนหันพลันแล่น มักตอบสนองต่อสิ่งต่างๆ อย่างรวดเร็วและเปลี่ยนแปลงทันที มีพฤติกรรมต่อต้านความคิดและขาดความคิดไตร่ตรองอย่างรอบคอบ

• มีความอดทนอดกลั้นต่ำและไม่สามารถทนต่อความเครียดหรือแรงกดดันได้ รู้สึกวิตกกังวล สับสน หรือรู้สึกโกรธที่ไม่สามารถจัดการกับปัญหาและต้องเผชิญกับสิ่งที่เข้ามากระตุ้นในแต่ละวัน


ความผิดปกติอื่นๆ ที่อาจเกิดร่วมกันได้กับผู้ใหญ่ที่เป็นโรคสมาธิสั้น

Shokin และทีมงานได้สำรวจผู้ใหญ่อายุ 19-65 ปี จำนวน 56 คนพบว่า ผู้ใหญ่สมาธิสั้น มีความวิตกกังวลมากที่สุดถึง 53% และหันไปติดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และติดยาเสพติดถึง 34% และ 30% ตามลำดับ นอกจากนี้ยังมีอารมณ์เก็บกดและรู้สึกหดหู่เท่าๆ กับอารมณ์ตื่นเต้นสลับกับอารมณ์ซึมเศร้าถึง 25% แต่จากผลการสำรวจก็พบว่ามี 14% เป็นโรคสมาธิสั้นอย่างเดียวโดยไม่มีโรคร่วมอื่นๆ แต่อย่างไรก้ดีการวินิจฉัยโรคสมาธิสั้นในผู้ใหญ่ต้องประเมินด้วยความระมัดระวังและต้องประเมินโดยจิตแพทย์เท่านั้น

ในการประเมินโรค แพทย์จะใช้การซักประวัติจากผู้ป่วยและญาติ โดยใช้คำถามเจาะลึก ตัวอย่างคำถามเช่น “เมื่อเป็นเด็ก อาการเริ่มเมื่อใด” โรคสมาธิสั้นในเด็กมักแสดงอาการเมื่ออายุน้อยกว่า 7 ปี

“มีระดับความรุนแรงของโรคมากน้อยแค่ไหน” “บ่อยแค่ไหนที่ไม่สามารถรับมือกับโรคหรือควบคุมพฤติกรรมได้” เกิดขึ้นอย่างน้อยสองสถานการณ์ในสถานที่อันได้แก่ บ้าน โรงเรียน สนามเด็กเล่น หรือที่ทำงาน “ประวัติครอบครัวว่ามีใครที่เป็นโรคสมาธิสั้นหรือไม่”

“การตรวจระดับสติปัญญา (IQ)” ซึ่งจะพบว่ามีระดับสติปัญญาปกติ การสังเกตและการบันทึกพฤติกรรมอย่างต่อเนื่องจะช่วยให้การประเมินความรุนแรงของโรคและการวางแผนการรักษาทำหด้ดีมากยิ่งขึ้น

ผลกระทบของสมาธิสั้นต่อชีวิตของผู้ป่วย

• ในวัยเด็กถึงวัยรุ่นตอนปลาย จะมีปัญหาการขาดความเอาใจใส่ต่อการเรียน

• ส่วนในวัยผู้ใหญ่ก็จะมีผลต่อการทำงาน การดำรงชีวิตประจำวัน และความสัมพันธ์กับบุคคลอื่นๆ

ผู้ใหญ่ที่เป็นโรคสมาธิสั้นจะถูกเบี่ยงเบนความสนใจได้ง่าย ชอบออกนอกเรื่องและมองข้ามในรายละเอียด การพูดโพล่งเมื่อฟังคำถามยังไม่จบ ไม่รู้จักการรอคอย และการทำอะไรรุนแรงก้าวร้าวต่อตนเองหรือบุคคลอื่น สิ่งเหล่านี้ย่อมส่งผลให้ผู้ที่เป็นโรคสมาธิสั้นไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม ซึ่งจะส่งผลให้กลายเป็นคนขาดความเชื่อมั่นในตนเอง ไม่ประสบความสำเร็จในงาน และมักเก็บตัวจนกลายเป็นผู้ที่มีโรคซึมเศร้า จนเกิดความรู้สึกอยากฆ่าตัวตายในที่สุด แต่การช่วยเหลือสามารถทำได้ถ้าพบภาวะสมาธิสั้นตั้งแต่เด็ก การรักษาต้องทำอย่างต่อเนื่องและอาศัยการร่วมมือจากหลายฝ่าย กล่าวโดยสรุปคือ สมาธิสั้นสามารถรักษาได้


ข้อมูลจาก คุณวงเดือน เดชะรินทร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาปฐมวัย HealthToday

6/09/2554

ประโยชน์จากชาเขียว

ชาเขียว เป็นชาที่ผ่านกระบวนการบ่มน้อยกว่าชาดำ และมีรสนุ่มนวลแตกต่างออกไป แต่นอกเหนือจากรสที่น่าลิ้มลองแล้ว ยังเป็นแหล่งที่ยอดเยี่ยมของพอลิฟีนอล สารที่มีความเป็นไปได้สูงว่าจะเป็นสารต้านมะเร็งที่ทรงประสิทธิภาพ ผู้ที่ดื่มชาเขียวเป็นประจำมีอัตราการเป็นมะเร็ง กระเพาะอาหาร มะเร็งปอด มะเร็งตับอ่อน และมะเร็งลำไส้ใหญ่ต่ำกว่าผู้ที่ไม่ดื่ม


พอลิฟีนอล ในชาเขียวกระตุ้นการสร้างสารต้านอนุมูลอิสระที่สำคัญ และเอนไซม์ที่ต่อต้านการเกิดมะเร็ง ชาเขียวยังช่วยรักษาผิวที่ถูกแสงแดดทำลาย จึงเป็นสารที่พบว่าเป็นส่วนประกอบในครีมหลายยี่ห้อ ยิ่งไปกว่านั้นยังช่วยป้องกันการเกิดล่มเลือด ลดความดันโลหิต และช่วยเพิ่มคอเลสเตอรอลชนิดดีคือ เอชดีแอล ยังไม่หมดเพียงแค่นั้น น้ำชาเขียวที่นำมาจิบยังช่วยป้องกันไม่ให้แบคทีเรียเกาะที่ฟัน ช่วยป้องกันฟันผุได้อีกด้วย จะมีเครื่องดื่มสำหรับชายามบ่ายอะไรที่ดีไปกว่านี้

เพื่อให้ได้ผลดีต่อสุขภาพจากชาเขียวครบถ้วน คุณต้องดื่มประมาณ 5-10 ถ้วยต่อวัน และถึงแม้ว่าชาเขียวจะมีคาเฟอีนต่ำกว่ากาแฟ แต่หากดื่มเกินกว่า 5 ถ้วยต่อวัน ก็ส่งผลให้คุณอยู่ไม่สุขได้เหมือนกัน มีชาเขียวแบบปราศจากคาเฟอีนวางจำหน่ายอยู่บ้าง แต่ค่อนข้างหาซื้อได้ยาก ชาเขียวสกัดหนึ่งเม็ดจะมีค่าเท่ากับชาเขียวหนึ่งถ้วนครึ่ง


ข้อมูลจาก วิตามินไบเบิล

ลบรอยฟกช้ำด้วยสมุนไพรไทย



รู้จักสังเกตอาการฟกช้ำ


เมื่อคุณประสบอุบัติเหตุเล็กๆน้อยๆ เช่น หกล้ม ชนโต๊ะ หรือตกบันได้ หรือบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา เหล่านี้อาจทำให้เกิดอาการฟกช้ำ ซึ่งจะมีลักษณะดังนี้

• รอยฟกช้ำมีสีคล้ำดำและม่วง แล้วค่อยๆจางเป็นสีเหลือง รอยฟกช้ำถือเป็นการเปลี่ยนแปลงสีผิวของผิวหนัง เกิดจากการมีเลือดออกจากเส้นเลือดฝอยใต้ผิวหนังที่ได้รับบาดเจ็บ แล้วรวมตัวกันบริเวณใกล้ผิวหนังชั้นบนสุด ทำให้มองเห็นเป็นรอยสีคล้ำดำและม่วง โดยทั่วไปรอยฟกช้ำนี้จะจางหายไปเองประมาณสองสัปดาห์

• แผลฟกช้ำ ต่างจากแผลถลอกและแผลฉีกขาดตรงที่บริเวณผิวหนังของรอยฟกช้ำจำไม่มีรอยแยกเป็นแผลให้เห็น จึงทำให้ไม่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อ

• อาจมีอาการปวดบวมอักเสบร่วมด้วย หรืออาจมี อาการช้ำในได้ เนื่องจากได้รับการกระแทกอย่างแรงจนอวัยวะที่อยู่ภายในร่างกายบอบช้ำ

• เจ็บหรือไม่เจ็บก็ได้ แต่ถ้ามีอาการเจ็บมาก มักเกิดอาการฟกช้ำบริเวณเหนือกระดูก เพราะเป็นเนื้อเยื่อที่มีโอกาสเกิดเลือดคั่งมาก

ปฏิบัติการฉุกเฉินด้วยความเย็น-ร้อน

การใช้ความเย็น ความร้อน ถือเป็นวิธีการรักษาแผลฟกช้ำที่ดีที่สุด แต่ต้องทำทันทีที่เกิดอาการ ลองมาดูกันค่ะว่าทำอย่างไร

• ก่อนอื่นให้รีบประคบด้วยความเย็น โดยใช้ถุงประคบเย็นที่มีขายตามร้านขายยา หรืออาจทำถุงประคบเย็นไว้ใช้เอง โดยใช้ถั่วแระญี่ปุ่นแช่เย็นใส่ถุงพลาสติกแล้วห่อด้วยผ้าขนหนู นำมาวางประคบบนรอยช้ำนานประมาณ 10 นาที ไม่ควรทิ้งนอนเกินกว่านั้น รอเวลาอีก 20 นาที จึงประคบใหม่อีกครั้ง ทำเช่นนี้ต่อเนื่องกัน 2-3 ครั้ง

นอกจากใช้ถั่วแระญี่ปุ่นแล้ว ยังใช้ผ้าสำลีแช่น้ำเย็นบิดพอหมาดวางประคบแทนได้ การประคบด้วยความเย็นนี้ลดการไหลเวียนของเลือด จะช่วงให้รอยช้ำไม่เข้มมากนัก

• เมื่อทำให้รอยฟกช้ำเย็นตัวลงครบ 24 ชั่วโมงแล้ว ให้เริ่มประคบด้วยความร้อน โดยใช้ผ้าจุ่มน้ำอุ่นๆบิดหมาด หรือใช้ถุงประคบร้อนที่สามารถนำเข้าอุ่นในเตาไมโครเวฟให้ร้อน แล้วนำมาประคบรอยฟกช้ำครั้งละ 20 นาที วันละ 2-3 ครั้ง เพื่อช่วยกระตุ้นให้เกิดการไหลเวียนของเลือดและกำจัดเลือดที่คั่งอยู่ออกไป จะทำให้รอยฟกช้ำค่อยๆจางลง

นอกจากนี้ยังมีสูตรสมุนไพร ช่วยรักษาอาการฟกช้ำมาฝากกันด้วยค่ะ

สูตรลูกประคบลบรอยฟกช้ำ

ลูกประคบของไทยมีหลายสูตร ซึ่งมีสรรพคุณแตกต่างกันไป เช่น คลายเมื่อยเนื้อตัว รวมถึงแก้อาการฟกช้ำและปวดบวมได้ด้วย

ใบรางจืด ใช้ใบรางจืดสด 1 กำมือ ล้างน้ำให้สะอาดแล้วตำให้ละเอียด ผสมการบูรประมาณ 1 หยิบมือ คลุกเคล้าให้ทั่วแล้วห่อด้วยผ้าขาวบางทำเป็นลูกประคบ ก่อนนำมาใช้ควรนึ่งให้อุ่น ใช้ประคบบริเวณที่ฟกช้ำนานประมาณ 10 นาที ทุกวัน เช้าและเย็นจนกว่าจะหาย ลูกประคบใบรางจืดมีสรรพคุณเป็นยาเย็น จึงใช้แก้อาการฟกช้ำที่มีอาการปวดบวมอักเสบหรือฟกช้ำภายในได้ดี

สมัยโบราณจะใช้ลูกประคบที่นึ่งแล้วจุ่มในเหล้าขาวก่อนนำมาประคบ เพราะเหล้าขาวเป็นตัวนำยา (หรือกษัยยา) ช่วยทำให้สมุนไพรซึมเข้าสู่ผิวหนังได้ดี และช่วยลบรอยฟกช้ำได้เร็วขึ้น

ใบขิง ลูกประคบใบขิง วิธีการทำเหมือนใบรางจืด แต่แตกต่างกันที่การนำไปใช้ เพราะลูกประคบใบขิงจะมีสรรพคุณเป็นยาร้อน ช่วยกระจายเลือด ใช้แก้อาการฟกช้ำที่ไม่มีอาการปวดบวมอักเสบร่วมด้วย

หัวไพล ใช้ไพลประมาณ 1 หัว ตำแล้วคั้นเอาเฉพาะน้ำทาถูบริเวณที่มีอาการ หรือนำมาทำเป็นลูกประคบด้วยวิธีเดียวกับใบรางจืด เพื่อช่วยบรรเทาปวดและลดรอยฟกช้ำได้เช่นกัน



สมุนไพรลดการอักเสบ

ใบพลับพลึง ใช้ใบพลับพลึงลนไฟอ่อนๆจนใบนิ่ม แล้วนำมาพันบริเวณที่ฟกช้ำ ทำเช่นนี้ทุกวัน เช้าและเย็น จนกว่าจะหาย ช่วยลดอาการปวดบวมได้

น้ำมะนาว ก็มีสรรพคุณลดการอักสบ ลดปวด และทำให้รอยช้ำจางเร็วขึ้น โดยใช้น้ำมะนาวคั้นสด 1 ลูก ผสมกับดินสอพอง 2-3 เม็ด นำมาพอกบริเวณที่ฟกช้ำ ทุกวัน เช้าและเย็น

เคล็ด (ไม่) ลับเร่งลดรอยช้ำ

ถึงแม้รอยช้ำนี้จะจางไปเองได้ก็จริง แต่เคล็ดลับเหล่านี้จะช่วยลดรอยฟกช้ำดำเขียวได้อย่างรวดเร็ว เพื่อไม่ให้สาวๆต้องกังวลกันอีกต่อไป

• ถ้าเกิดรอยช้ำบริเวณแขนหรือขา ให้รีบพันด้วยผ้ายืดพันแผล ผ้ายืดจะช่วยบีบเนื้อเยื่อไว้ จึงป้องกันไม่ให้เลือดไหลกระจายออกไปในเนื้อเยื่ออื่นๆ รอยฟกช้ำจึงไม่รุนแรงนัก

• นอกจากนี้ยังมีวิธีลดการไหลเวียนเลือดมายังรอยฟกช้ำ เพื่อไม่ให้รอยฟกช้ำเข้มมาก หลักการคือ พยายามยกอวัยวะนั้นให้สูง เช่น ถ้าฟกช้ำที่ขา ควรนั่งพักบนโซฟาหรือเก้าอี้นุ่น ถ้าอยู่ในห้องนอน อาจนอนพาดขาบนหมอน เพื่อยกขาให้สูงกว่าระดับหัวใจ และถ้าเป็นแขน เวลานั่งให้พยายามยกแขนสูงเหนือระดับหัวใจ

วิธีง่ายๆเพียงเท่านี้ ก็จะทำให้รอยฟกช้ำหายทันใจค่ะ



ข้อมูลจาก นิตยสารชีวจิต