2/21/2553

อยากผอมต้องกินโฮลเกรน

“โฮลเกรน” คือ ธัญพืชเต็มเมล็ด ที่ผ่านการขัดสีน้อยที่สุดหรือไม่ผ่านการขัดสีเลย จึงอุดมไปด้วยใยอาหาร โปรตีน วิตามินบี วิตามินอี ธาตุเหล็ก และสารต้านอนุมูลอิสระ ตัวอย่างโฮลเกรนที่เรารู้จักกันดีได้แก่ ข้าวกล้อง ข้าวสาลี ข้าวโพด ข้าวโอ๊ต ข้าวบาร์เลย์ ข้าวไรย์ ลูกเดือย นั่นเอง

หลายคนอาจทราบประโยชน์ของโฮลเกรนว่าลดความเสี่ยงโรคหัวใจ ความดันสูง โรคมะเร็งในทางเดินอาหาร โรคเบาหวานชนิดที่ 2 หรือช่วยป้องกันท้องผูก แต่น้อยคนนักจะรู้ว่า ถ้ากินโฮลเกรนเป็นประจำจะช่วยให้หุ่นเพรียวขึ้น เพราะเส้นใยและคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนในโฮลเกรนทำให้ร่างกายย่อยอาหารช้าลง จึงรู้สึกอิ่มนาน ไม่กินจุบกินจิบ และมีผลต่อการลดน้ำหนักในระยะยาว งานวิจัยพบว่า หากกินอาหารโฮลเกรน 40 กรัมทุกวันจะทำให้น้ำหนักลดลงถึงเดือนละ 0.49 กิโลกรัม โดยไม่ต้องทำอะไรเพิ่มเติม

แต่ถ้าไม่รู้ว่าจะเริ่มอย่างไร วิธีง่ายๆ คือให้เปลี่ยนมากินข้าวกล้องแทนข้าวขาว ซีเรียลโฮลเกรน ขนมปังโฮลวีต คุ้กกี้ข้าวโอ๊ต หรือพาสต้าเส้นโฮลวีต เท่านี้ก็ได้สุขภาพดีแถมรูปร่างผอมเพรียวเป็นของแถมแล้ว

ข้อมูลจาก นิตยสาร Health&Cuisine

คุณรู้จักคอเลสเตอรอลดีแค่ไหน???

คนส่วนใหญ่อาจรู้จักคอเลสเตอรอลว่าเป็นตัวการที่ก่อให้เกิดโรคไขมันในเลือดสูงและโรคหัวใจ แต่รู้หรือไม่ว่าคอเลสเตอรอลสามารถสร้างคุณและโทษได้ในเวลาเดียวกัน…

· คอเลสเตอรอล คือ สารไขมันคล้ายขี้ผึ้งที่อยู่ในหลอดเลือด และมีอยู่ในทุกเซลล์ของร่างกาย ทำหน้าที่เป็นส่วนประกอบของผนังเซลล์ในร่างกาย และเป็นส่วนประกอบสำคัญของฮอร์โมนบางชนิดที่จำเป็นต่อร่างกาย

· ตับสามารถผลิตคอเลสเตอรอลได้เองตามธรรมชาติ

· คอเลสเตอรอลมี 2 ชนิดที่สำคัญ คือ แอลดีแอล คอเลสเตอรอล (LDL cholesterol) เป็นไขมันตัวร้ายที่ทำให้หลอดเลือดตีบตัน มีผลทำให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมอง และเอชดีแอล คอเลสเตอรอล (HDL cholesterol) เป็นไขมันตัวดีที่จะนำไขมันชนิด LDL cholesterol ออกจากกระแสเลือดและนำกลับเข้าสู่ตับเพื่อกำจัดทิ้ง ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ

· คอเลสเตอรอลก็มีข้อดีเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็น ทำให้เยื่อหุ้นเซลล์ต่างๆไม่แห้ง ไม่ฉีกขาดง่ายและไม่ตาย ช่วยสังเคราะห์ฮอร์โมนจากต่อมไร้ท่อต่างๆ ควบคุมการทำงานของสมองและช่วยให้ร่างกายผลิตน้ำดีสำหรับการย่อย ทั้งยังช่วยดูดซึมวิตามินที่ไม่สามารละลายในน้ำ คือ วิตามิน A, D, E และK แต่ถ้าร่างกายมีคอเลสเตอรอลน้อยเกินไป ตับก็สร้างน้ำดีได้ไม่พอเพียงกับการนำไปใช้ย่อยและดูดซึมไขมัน มีผลต่อทุกๆระบบของร่างกาย ผนังเซลล์ของเราจะค่อยๆบางลงจนอ่อนแอ ไม่สามารต้านทานเชื้อโรคต่างๆได้

· คอเลสเตอรอลสูงเกิดจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมการบริโภคอาหาร ขาดการออกกำลังกาย ความเครียด กรรมพันธุ์ โรคที่เกี่ยวข้องกับการเผาผลาญพลังงาน เช่น โรคเบาหวาน โรคต่อมไทรอยด์ทำงานน้อย และการใช้ยาบางชนิดอย่างสเตียรอยด์

· การควบคุมคอเลสเตอรอลในเลือด สามารถทำได้หลายวิธี เช่น การควบคุมอาหาร การออกกำลังกาย การลดความเครียด การใช้ยาลดคอเลสเตอรอล และการทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร

2/17/2553

สูดควันบุหรี่ แค่ 30 นาที ระวังเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ

ทีมนักวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยแห่งรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ศึกษาวิจัยกลุ่มตัวอย่างผู้ไม่สูบบุหรี่แต่ได้รับควันบุหรี่เข้าไป พบว่าเพียงแค่ 30 นาที ควันมรณะจากบุหรี่ที่ผู้อื่นสูบก็สามารถสร้างความเสียหายใหญ่หลวงให้กับเซลล์และหลอดเลือดหัวใจได้

จากการทดลองในอาสาสมัครจำนวน 10 คน ที่ไม่สูบบุหรี่และมีอายุตั้งแต่ 29-31 ปี โดยได้ทดลองปล่อยควันบุหรี่เข้าไปให้ห้องทดลองที่มีอาสาสมัครอยู่ในนั้นเป็นเวลา 30 นาที ในอัตราที่ควบคุมไว้ให้มีปริมาณควันบุหรี่อบอวลอยู่ในห้องดังกล่าวเทียบเท่ากับปริมาณควันบุหรี่ที่พบได้ทั่วไปตามผับหรือบาร์ ผลการทดลองพบว่าควันบุหรี่ไปรบกวนการทำงานของสารเคมีในร่างกายที่ทำหน้าที่ส่งสัญญาณให้เอนโดธีเลียล โปรเจนิเตอร์เซลล์ ซึ่งเซลล์ต้นกำเนิดเอนโดธีเลียลเซลล์ที่สร้างจากไขกระดูก ให้ไปซ่อมแซมเส้นเลือดตรงบริเวณที่ได้รับความเสียหายและแม้จะได้รับควันบุหรี่เพียง 30 นาที แต่ 24 ชั่วโมงผ่านไปแล้วก็ยังมีผลอยู่ ที่สำคัญเมื่อเซลล์หลอดเลือดถูกทำลายและไม่สามารถซ่อมแซมตัวเองได้ ก็จะนำไปสู่โรคหลอดเลือดหัวใจได้


ข้อมูลจาก นิตยสารสุขภาพดี

2/07/2553

"นั่งหน้าคอมพ์จนปวดคอ" อย่านิ่งดูดาย

ใครที่รู้ตัวว่ากำลังปวดคอหรือมีความ เสี่ยงจะปวดคอจากการนั่งทำงาน (หรือเล่นเกม) หน้าเครื่องคอมพิวเตอร์นานเกินไปอย่าได้นิ่งเฉย บทความนี้จะพาคุณไปพบกับทางออกที่จะทำให้คุณสามารถป้องกันและลดอาการปวดคอ ที่แสนทรมาน ก่อนจะไปเรียนรู้ท่าทางการป้องกันอาการปวดคอ คุณต้องรู้ก่อนว่าต้นเหตุอาการปวดคอนั้นไม่ได้มาจากการนั่งหน้าคอมพิวเตอร์ นานๆ แต่จะมาจากทุกกรณีที่ทำให้อิริยาบทของร่างกายเราผิดเพี้ยนไป

อาจารย์ผกาภรณ์ พู่เจริญ อาจารย์ประจำคณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) อธิบาย ว่าสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการปวดคอนั้น เริ่มที่การมีอิริยาบถไม่ถูกต้อง เช่น หนุนหมอนสูงเกินไป ก้มหรือเงยหน้านานๆ อาจจะทำงานหน้าคอมพิวเตอร์หรือเขียนหนังสืออ่านหนังสือเป็นเวลานานๆ โดยไม่หยุดพัก แถมการศึกษายังพบว่าอาการปวดคอมีสาเหตุมาจากการเสื่อมสมรรถภาพของกระดูก ส่งผลทำให้มีอาการปวดร้าวไปยังท้ายทอย แขน กล้ามเนื้อแขนอ่อนแรง ขณะเดียวกัน อาการปวดคออาจมีสาเหตุมาจากอารมณ์ตึงเครียดซึ่งส่งผลให้มีการเกร็งของกล้ามเนื้อคอเป็นเวลานาน “เมื่อเกิดอาการก็ต้องรีบรักษา" อาจารย์บอกว่าจะมีการแบ่งผู้ป่วยออกเป็น 2 ระยะ คือ

1.ระยะเฉียบพลัน 1 – 2 ผู้ที่มีอาการปวดคอต้องพยายามพักผ่อนกล้ามเนื้อคอโดยการนอนราบ ใช้น้ำแข็งประคบบริเวณที่เกิดการอักเสบ ใช้เวลาในการประคบประมาณ 15 – 20 นาที

2.ระยะเรื้อรัง ผู้มีอาการต้องยืดกล้ามเนื้อคอด้วยตัวเอง โดยใช้มือดันศีรษะไปในทิศทางที่หันไม่ได้ช้าๆ จนรู้สึกตึงทำค้างไว้ครั้งละประมาณ 10 วินาทีจำนวน 10 ครั้ง หรือจนอาการดีขึ้น แล้วประคบด้วยถุงน้ำร้อน 15 - 20 นาที หมั่นออกกำลังกายกล้ามเนื้อคออย่างสม่ำเสมอ หากมีอาการปวดมากขึ้น ควรรับการรักษาทางกายภาพบำบัด" อาจารย์ย้ำว่าทุกคนสามารถป้องกันไม่ให้เกิดอาการปวดคอได้ ด้วยการหลีกเลี่ยงการทำงานในลักษณะก้มหรือเงยหน้าเป็นเวลานาน และควรเปลี่ยนอิริยาบถบ่อยๆ ไม่นอนหนุนหมอนที่สูงและแข็งเกินไป และออกกำลังกายกล้ามเนื้อคออย่างสม่ำเสมอ อาจารย์ ผกาภรณ์ให้เคล็ดวิชา 4 กระบวนท่าออกกำลังกายเพื่อป้องกันอาการปวดคอ ได้แก่ ท่าก้มและเงยหน้า ท่าหันหน้าซ้ายและขวา ท่าเอียงคอซ้ายขวา และท่าเกร็งกล้ามเนื้อคอ
  • ท่าก้มและเงยหน้า จะเริ่มต้นด้วยการนั่งหรือยืนก็ได้ แต่ศีรษะต้องตั้งตรง จากนั้นค่อยๆ ก้มให้คางชิดอก แล้วเงยหน้าขึ้นช้าๆ ให้มากที่สุด ทำท่านี้ 5 – 10 ครั้ง
  • ท่าหันหน้าซ้ายและขวา จะเริ่มต้นด้วยนั่งหรือยืนก็ได้ จากนั้นหันไปทางซ้ายช้าๆ แล้วค่อยๆ หมุนศีรษะกลับมาทางขวา ทำซ้ำ 5 – 10 ครั้ง ข้อควรระวังหากมีอาการมึนศีรษะ ตาลายให้หยุดการออกกำลังกายทันที
  • ท่าเอียงคอซ้ายขวา จะนั่งหรือยืนก็ได้เหมือนเคย แต่ให้ศีรษะตรง จากนั้นเอียงศีรษะไปทางซ้ายช้าๆ ให้ทิศทางของใบหูจรดไหล่จนรู้สึกตึง ค่อยๆ เอียงศีรษะกลับมาทางขวาทำเช่นเดียวกัน ทำซ้ำประมาณ 5 – 10 ครั้ง
  • ท่าเกร็งกล้ามเนื้อคอ ให้ก้มหน้า วางมือบนหน้าผาก ออกแรงต้านกับการก้มหน้า ครั้งละ 10 วินาที ทำซ้ำ 5 – 10 ครั้ง เงยหน้า ประสานมือที่ท้ายทอย ออกแรงต้านกับการเงยหน้า ครั้งละ 10 วินาที ทำซ้ำ 5 – 10 ครั้ง เอียงคอ วางมือที่ด้านข้างซ้ายของศีรษะออกแรงต้านกับการเอียงคอไปด้านซ้าย วางมือด้านขวาของศีรษะแล้วทำเช่นเดียวกัน ครั้งละ 10 วินาที ทำซ้ำ 5 – 10 ครั้ง หันศีรษะ วางมือซ้ายบนขมับซ้ายออกแรงต้านกับการหันศีรษะไปด้านซ้าย วางมือขวาบริเวณขมับขวาแล้วทำเช่นเดียวกัน ครั้งละ 10 วินาที ทำซ้ำ 5 – 10 ครั้ง การดูแลตัวเองและป้องกันไม่ให้เกิดอาการปวดคอนั้นเป็นสิ่งที่ควรกระทำก่อน ที่จะปล่อยให้อาการปวดคอเกิดขึ้น

    ข้อมูลจาก โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์

2/03/2553

โรคต่อมลูกหมากโต ผู้ชายควรรู้

โรคต่อมลูกหมากโต คืออะไร

ต่อมลูกหมากเป็นอวัยวะส่วนหนึ่งของระบบสืบพันธุ์เพศชาย อยู่บริเวณรอบท่อปัสสาวะที่อยู่ใต้ต่อกระเพาะปัสสาวะ ทำหน้าที่สร้างน้ำหล่อเลี้ยงอสุจิ และสารพีเอสเอ (PSA) ซึ่งเป็นสารที่ทำให้น้ำอสุจิไม่เกาะกันเป็นก้อนเหนียวข้น

เนื้องอกของต่อมลูกหมากจะโต เริ่มพบได้หลังอายุ 40 ปี แต่คนไข้ส่วนใหญ่จะแสดงอาการหลังจาก 50 ปี ไปแล้วเป็นส่วนใหญ่ อุบัติการณ์การพบเนื้องอกของต่อมลูกหมากจะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆตามอายุที่มากขึ้น ต่อมลูกหมากโตไม่ใช่การเจ็บป่วย แต่เป็นลักษณะอาการที่พบได้ทั่วไปตามธรรมชาติเมื่อมีอายุมากขึ้น และเป็นภาวะที่สามารถรักษาได้ ในชายที่มีอายุ 60-69 ปี พบได้มากกว่าร้อยละ 50 และในผู้ที่มีอายุระหว่าง 70-89 ปี จะพบประมาณร้อยละ 90 ชายที่มีเนื้องอกต่อมลูกหมากเพียง 1 ใน 3 เท่านั้นที่ประสบปัญหาเดือดร้อนจากอาการของต่อมลูกหมากโต

เนื้องอกของต่อมลูกหมากจะโตมาจากต่อมลูกหมากบริเวณที่ล้อมรอบท่อปัสสาวะ (transition zone และ periurethral glandular tissue) กดเบียดท่อปัสสาวะทำให้มีอาการปัสสาวะลำบาก ในขณะที่มะเร็งของต่อมลูกหมากส่วนใหญ่ร้อยละ 70 จะมาจากต่อมลูกหมากทางด้านหลังที่อยู่ติดกับลำไส้ใหญ่ส่วนล่าง (peripheral zone)

สาเหตุของต่อมลูกหมากโต

ยังไม่มีหลักฐานยืนยันถึงสาเหตุที่แท้จริงของต่อมลูกหมากโต แต่เชื่อว่าเกิดจากการทำงานของฮอร์โมนเพศที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้เกิดการเพิ่มจำนวนต่อมและเนื้อเยื่อเกี่ยวพันของต่อมลูกหมากจนมีขนาดใหญ่ขึ้น
ขนาดของต่อมลูกหมากจะมีการโตขึ้นครั้งแรกจริงๆ เมื่อเข้าสู่วัยรุ่น และน่าจะสัมพันธ์กับระดับของฮอร์โมนเพศชาย หรือเทสโทสเตอโรน (testosterone) ในช่วงอายุ 30-40 ปี ต่อมลูกหมากจะมีขนาดโตขึ้นเล็กน้อย หลังจากนั้นก็จะหยุดโต จนกระทั่งอายุ 45-50 ปี ก็อาจจะเกิดการขยายขนาดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆตามอายุ

อาการของต่อมลูกหมากโต

คนไข้ต่อมลูกหมากโตจะมีอาการแสดงซึ่งแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม อาการอย่างแรก คือ อาการปัสสาวะบ่อย ร่วมกับอาการแสบขัดได้ เนื่องจากการที่กระเพาะปัสสาวะหนาตัวขึ้นเพื่อเพิ่มแรงบีบตัว ให้สามารถปัสสาวะผ่านรูแคบๆได้ และภาวะติดเชื้อของทางเดินปัสสาวะจากการที่ปัสสาวะตกค้างออกไม่หมด และอาการกลุ่มที่ 2 คือ การปัสสาวะลำบาก ไม่พุ่ง เบ่งนานกว่าจะออก เนื่องจากเนื้องอกต่อมลูกหมากซึ่งร้อยละ 40 อาการเกิดเนื่องจากขนาดของต่อมลูกหมากที่โตกดเบียดอุดกั้นบริเวณคอของกระเพาะปัสสาวะ ร้อยละ 60 อาการเกิดเนื่องจากการหดตัวของกล้ามเนื้อเรียบในเนื้องอกของต่อมลูกหมากทำให้ท่อปัสสาวะตีบแคบลง ในคนไข้บางรายหากไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้เกิดความเสียหายต่อไต เกิดนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ และในคนไข้บางรายกลั้นปัสสาวะไม่ได้

ดังนั้น การตรวจรักษาโรคต่อมลูกหมากโตตั้งแต่อาการเริ่มต้นก็จะช่วยลดโอกาสของการเกิดปัญหาแทรกซ้อนที่จะเกิดขึ้นตามมา

อาการที่พบ
· ปัสสาวะไม่พุ่ง ปัสสาวะสะดุด เบ่งนานกว่าจะออก
· เกิดความรู้สึกอยากถ่ายปัสสาวะขึ้นมาทันที และกลั้นปัสสาวะไม่อยู่
· มีปัสสาวะเล็ด หรือไหลเป็นหยดๆก่อนและหลังจากถ่ายปัสสาวะเสร็จแล้ว
· ปัสสาวะบ่อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลากลางคืน

การรักษาโรคต่อมลูกหมากโต

ปัจจุบันมีการรักษาที่มีประสิทธิภาพ ในรายที่อาการน้อย การปรับพฤติกรรมอาจช่วยทำให้อาการดีขึ้นได้โดยไม่ต้องใช้ยาหรือการผ่าตัด ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับอาการของโรคและสภาพไตว่าได้รับการกระทบกระเทือนหรือไม่ ได้แก่ พยายามถ่ายปัสสาวะเมื่อรู้สึกปวด หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำมากเกินไปช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง และเวลาที่จะเข้านอน งดกาแฟ ชา เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะจะทำให้เข้าห้องน้ำบ่อย ถ้าอาการต่างๆไม่ดีขึ้นแพทย์จะให้ยาคลายกล้ามเนื้อเรียบในต่อมลูกหมาก หรือยาลดขนาดต่อมลูกหมากให้เล็กลง เพื่อทำให้ต่อมลูกหมากไม่เบียดท่อปัสสาวะหรืออาจให้ยาทั้ง 2 อย่างร่วมกัน แพทย็จะแนะนำการทำผ่าตัดแก้ไขการอุดกั้นทางเดินปัสสาวะ ถ้ามีข้อบ่งชี้ในการผ่าตัด ได้แก่ คนไข้ที่ปัสสาวะไม่ออกเลย แม้ว่าจะใด้ยาและลองใส่สายสวนปัสสาวะดูสักพักแล้ว

คำแนะนำในคนไข้ต่อมลูกหมากโต

· ลดน้ำดื่มหลังอาหารเย็นและก่อนนอน
· ไม่ให้ท้องผูก
· หลีกเลี่ยงแอลกอฮอล์ กาแฟ ที่จะกระตุ้นให้ปัสสาวะบ่อย
· หลีกเลี่ยงยาหวัดชนดที่ลดอาการคัดจมูก เนื่องจากอาจจะทำให้กล้ามเนื้อเรียบในต่อมลูกหมากมีการบีบตัวมากขึ้น และหลีกเลี่ยงยาที่ลดการบีบตัวของกระเพาะปัสสาวะ (anticholinergic drugs) เนื่องจากอาจจะทำให้ท่านปัสสาวะไม่ออก


ข้อมูลจาก รศ.นพ.สมบุญ เหลืองวัฒนากิจ