12/15/2552

โรคเก๊าท์ ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ


ทำไมต้องปวดข้อนิ้วเท้า

การที่กรดเก๊าท์มักมาทักทายข้อนิ้วเท้าบ่อยเป็นด้วยเหตุผลหลักคือ ข้อนิ้วเท้าเย็นกว่าร่างกายทำให้การขับกรดเก๊าท์เป็นไปอย่างเอื่อยเฉื่อยจึงคับคั่งกันอยู่ตามข้อนิ้วมากที่สุด ดังนั้นอาการเก๊าท์เริ่มแรกคือ ปวด บวม แดง ร้อน ที่ข้อนิ้วเท้าหรือข้อนิ้วมือก็ได้ ท่านที่เริ่มปวดจากข้อใหญ่อย่างข้อเข่าก่อนก็ค่อนข้างนอนใจได้มากครับเพราะหลักของเก๊าท์ “ข้อเล็กๆ ใช่ ข้อใหญ่ๆ ไม่เอา”

วิธีการเลือกของกินง่ายๆ 2 ประการดังนี้คือ

1) เลี่ยงกินเนื้อสัตว์มากรวมถึงน้ำต้มเนื้อสัตว์ เช่น ซุปหมู ซุปไก่
2) อย่ากินส่วนยอด ส่วนเม็ด เช่น ถ้าจะกินแตงกวาก็ให้คว้านเม็ดออก หรือถ้าจะกินหน่อไม้ก็ให้ต้มนานและต้มกับใบย่านางด้วยก็จะยิ่งดี และถ้าดื่มแอลกอฮอลก็ขอให้เลี่ยงชนิดที่ทำจากเมล็ด เช่น เบียร์ เป็นตัวปวด
เก๊าท์อย่างดีทีเดียว

เท่ากับว่า ท่านยังคงกินเป็ดไก่ได้ เพียงแต่ให้เลือกกินในส่วนเนื้อและไม่มากเกินวันละครึ่งฝ่ามือ (ครึ่งขีด) อย่าไปหนักซดน้ำซุปไก่ซุปหมูให้หนักจนเกินไป ถ้าวันนี้กินเนื้อสัตว์ไปมากแล้วก็อย่าไปเติมด้วยน้ำซุปก๋วยเตี๋ยว


วิธีปฏิบัติตัวสำหรับผู้ที่เป็นเก๊าท์

1) ลดน้ำหนักตัวลง เพราะยิ่งอ้วนยิ่งขับเก๊าท์ยาก
2) ดื่มน้ำให้มากถึงวันละ 3 ลิตร
3) อย่าซดน้ำซุปเนื้อสัตว์หรือดื่มเบียร์แต่ให้ดื่มกาแฟได้เพราะมีงานวิจัยว่าช่วยลดกรด
เก๊าท์
4) รับประทานเต้าหู้วันละ 1 แผ่นจะช่วยขับกรดเก๊าท์ออกได้
สำหรับท่านที่มีอาการเก๊าท์ทักทายแบบรุนแรงเฉียบพลันอย่าเพิ่งลุกขยับนิ้วเท้าไปไหน ไม่ต้องหาอะไรมาประคบ และไม่ต้องเอายาหม่องมาถูนวดเพราะจะยิ่งปวดทรมาน แต่ขอให้อยู่เฉยๆ และหยิบเอายาแก้ปวดธรรมดาอย่างพาราฯ มากินสักสองเม็ดแล้วก็ดื่มน้ำตามให้มากเป็นลิตร จะช่วยพิชิตปลิดอาการปวดเก๊าท์ได้ชะงัดดีนักแล


อ้างอิงจาก : กรุงเทพธุรกิจ

12/13/2552

สูตรเด็ดบอกลา เซลลูไลท์

วิธีทำให้ก้อนไขมันตะปุ่มตะป่ำใต้ผิวหนังดูเนียนเรียบได้อย่างไร เรามีคำตอบค่ะ...

85% ของผู้หญิงตะวันตกเมื่อขยุ้มเนื้อขึ้นมาพบว่าจะเห็นรอยนูนๆ ที่เรียกว่า ผิวเปลือกส้มหรือเซลลูไลท์หรือที่รู้จักกันว่าก้อนเนื้อขรุขระที่อยู่รอบต้นขาและก้น ตามทฤษฎีกล่าวว่าเซลลูไลท์เป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงของไขมันที่สะสมอยู่ใต้ผิวหนัง เมื่อชั้นบางๆของเนื้อเยื่อระหว่างเซลล์ไขมันเปลี่ยนเป็นเส้นๆและรวมตัวกันอยู่รอบๆ ไขมัน เป็นสาเหตุให้เกิดรอยบุ๋มเล็กๆ ซึ่งเป็นสัญญาณว่าเซลล์ลูไลท์เล่นงานคุณแล้ว

ดูเหมือนเซลลูไลท์มีส่วนเกี่ยวพันอย่างแยกไม่ออกกับผลของฮอร์โมนในร่างกายโดยเฉพาะเอสโตรเจน ดังนั้นเมื่อระดับฮอร์โมนเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน เช่น ช่วงเริ่มมีประจำเดือนของวัยรุ่น ช่วงตั้งครรภ์ โดยเฉพาะในช่วงวัยทอง เหล่านี้ล้วนก่อให้เกิดเซลล์ลูไลท์มากขึ้น เรามาดูวิธีต่างๆ ที่ช่วยสลายเซลลูไลท์กันค่ะ

การควบคุมอาหาร
การหันไปทานอาหารที่มีไขมันต่ำ เช่น ผักและผลไม้ จะช่วยลดสารพิษและกำจัดไขมันที่จับตัวอยู่ในเนื้อเยื่อผิว ควรทานผักผลไม้สดและอาหารจำพวกโฮลเกรนมากๆ ห้ามเด็ดขาดสำหรับกาแฟ น้ำอัดลม บุหรี่ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การดื่มน้ำมากๆ เป็น เพราะจะช่วยขจัดสารพิษที่ไม่พึงปรารถนาออกจากร่างกาย

การนวด
ไม่เพียงช่วยให้รู้สึกสบายตัวได้อย่างน่าอัศจรรย์เท่านั้น การนวดยังช่วยกำจัดเซลลูไลท์ด้วยการบีบกดกล้ามเนื้อ และกระตุ้นการไหลเวียนโลหิตตลอดจนระบบน้ำเหลืองที่จะทำให้เนื้อเยื่อไขมันแตกตัว โดยสามารถนวดเองได้ เริ่มจากนวดเบาๆที่ขาแต่ละข้างสัก 2-3 นาที เพื่อให้ไขมันแตกตัวและกำจัดสารพิษ หากต้องการนวดตั้งแต่หัวจรดเท้า ให้ใช้วิธีที่เรียกว่า Endermologie cellulite treatment เป็นเครื่องมือสำหรับดูดและกลิ้งบนผิวหนังเพื่อให้ผิวหนังกระชับ แต่มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงค่ะ

การออกกำลังกาย
จะช่วยสูบฉีดออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกาย ทำให้เลือดไหลเวียนดี ช่วยให้ผิวที่เป็นลอนหยักขรุขระ ซึงเกิดจากเซลล์ลูไลท์หายไป ช่วยให้กล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อรอบๆผิวที่เป็นลอนหยักกระชับแข็งแรงขึ้น เซลล์ลูไลท์หายไป

การปัดแปรงผิว
การใช้แปรงนวดหรือถุงมือขัดผิวเป็นประจำวันละ 2 นาที จะช่วยกระตุ้นการไหลเวียนโลหิตและสลายเซลลูไลท์ เริ่มจากเท้าและให้ปัดแปรงผิวในทิศทางที่มุ่งเข้าสู่หัวใจ

การห่อตัว
ส่วนใหญ่เราสามารถใช้บริการวิธีนี้ได้ตามสปา การห่อตัวจะใช้ผ้าเปียกที่มีส่วนผสมของสมุนไพรและสาหร่างทะเลที่จะช่วยให้ผิวชุ่มชื่นมีชีวิตชีวา และขจัดสารพิษจากผิว โดยจะห่อตั้งแต่หน้าอกไปจนถึงนิ้วเท้า ทิ้งไว้หนึ่งชั่วโมง โดยสรรพคุณของแร่ธาตุที่อยู่ในผ้าห่อตัวจะทำหน้าที่สลายเซลลูไลท์ หลังจากเอาผ้าห่อตัวออกแล้วนวดจะช่วยให้โลหิตหมุนเวียนดีค่ะ

ข้อมูลจาก นิตยสาร Health plus

12/03/2552

ท้องเดินเรื้อรัง - โรคธาตุอ่อน


ข้อน่ารู้

1. บางคนอาจมีอาการถ่ายเหลวหรือถ่ายเป็นน้ำบ่อยครั้ง เป็นๆหายๆเป็นประจำ โดยที่สุขภาพทั่วไปแข็งแรงดี คนพวกนี้มักไม่มีความผิดปกติทางร่างกายแต่อย่างไร แต่เกิดเพราะกระเพาะลำไส้มีความไวต่อสิ่งเร้าต่างๆ ภาษาหมอเรียกว่า “กลุ่มอาการลำไส้ไวต่อสิ่งเร้า” (irritable bowel syndrome) ในที่นี้ขอเรียกว่า “โรคธาตุอ่อน” แทน เพื่อแสดงว่าโรคนี้เกิดกับบุคคลบางคนเป็นเฉพาะ ดังที่ชาวบ้านพูดกันว่าเป็นเพราะ “ธาตุ(การย่อย) ของคนๆนั้นอ่อน (แอ)”
2. คนที่เป็นโรคนี้จะมีอาการท้องเดินเป็นๆหายๆเป็นประจำ นานนับสิบปี หรือตลอดชีวิต โดยไม่มีโทษหรือเกิดอันตรายแทรกซ้อนแต่อย่างไรทั้งสิ้น เพียงแต่สร้างความรำคาญและมีความลำบากในการต้องคอยวิ่งหาห้องสุขาอยู่เป็นนิตย์

3. สิ่งเร้าที่ทำให้เกิดอาการท้องเดิน ได้แก่ ความเครียดทางอารมณ์ (เช่น วิตกกังวล คิดมาก เศร้า กลัว ตื่นเต้น โกรธ) หรืออาหาร (เช่น ของเผ็ด ของเปรี้ยว น้ำส้มสายชู ของมัน กะทิ เหล้า เบียร์ นมสด ชา กาแฟ) ทำให้ลำไส้มีการบีบตัวผิดปกติ เกิดอาการปวดท้อง ท้องเดินขึ้นทันทีที่ถูกกับสิ่งเร้า ดังนั้นคนที่มีอาการนี้ควรต้องสังเกตดูว่าเกิดจากอะไร หากสามารถหลีกเลี่ยงได้ ก็จะทำให้อาการท้องเดินทุเลาลงไป

4. โรคนี้ไม่จำเป็นต้องใช้ยารักษา การออกกำลังกาย การฝึกผ่อนคลายความเครียด และการกินอาหารที่มีกากมาก (เช่น ผัก ผลไม้ เป็นประจำ จะมีส่วนช่วยให้อาการดีขึ้น)รู้ได้อย่างไรว่าไม่ได้เป็นอื่น
คนที่เป็นโรคธาตุอ่อน จะมีอาการปวดท้อง และถ่ายท้องทันทีที่กระทบถูกสิ่งเร้า เช่น เวลาเครียด หรือหลังกินอาหารบางชนิด คนไข้มักถ่ายวันละ 2-7 ครั้ง หลังตื่นนอนตอนเช้ามักถ่ายเป็นก้อนเหมือนปกติ แล้วหลังอาหารเช้าประมาณ 10-30 นาทีจะมีอาการปวดบิดในท้องต้องเข้าส้วมถ่าย 2-3 ครั้ง ซึ่งมักถ่ายเหลวหรือเป็นน้ำ บางคนอาจถ่ายอีกหลายครั้ง โดยเฉพาะหลังอาหารแต่ละมื้อ คนไข้มักมีอาการปวดบิดในท้องก่อนถ่าย พอถ่ายแล้วก็หายปวดดังปลิดทิ้ง แต่เมื่อเข้านอนแล้ว จะไม่มีอาการถ่ายท้องเลยจนกระทั่งเช้า (ถ้ามีอาการท้องเดินหลังเข้านอนแล้ว มักมีสาเหตุอย่างอื่นมากกว่าโรคธาตุอ่อน)อาการท้องเดินแบบนี้อาจเป็นสัปดาห์ละ 1-2 หน หรือเดือนละหลายๆ หน ขึ้นกับอาหารและความเครียด

จะเป็นๆหายๆ นับเป็นสิบๆปี หรือตลอดชีวิต โดยที่คนไข้แข็งแรงดี กินอาหารได้ น้ำหนักไม่ลด ไม่มีไข้บางครั้งอาจถ่ายมีมูกปน ซึ่งไม่มีกลิ่น และไม่มีเลือดปน (ถ้าถ่ายเป็นเลือดปนต้องคิดถึงสาเหตุอื่น) แต่อย่างไรก็ตาม คนที่มีอาการท้องเดินเรื้อรัง อาจมีสาเหตุจากความผิดปกติทางร่างกายก็ได้ เช่น

1. โรคบิดเรื้อรัง เกิดจากเชื้อบิดอะมีบา ทำให้มีอาการถ่ายเป็นมูกปนเลือดเรื้อรัง อาจมีน้ำหนกลด อ่อนเพลียร่วมด้วย
2. โรคพยาธิเรื้อรัง พยาธิบางชนิดเมื่อเข้าสู่ร่างกายอาจทำให้คนไข้มีอาการท้องเดิน ถ่ายเหลว หรือเป็นน้ำหรือมีมูกปน แต่มักมีอาการอ่อนเพลีย น้ำหนักลดร่วมด้วย
3. วัณโรคลำไส้ มีอาการถ่ายเหลว เรื้อรัง อาจมีไข้ เบื่ออาหาร น้ำหนักลดร่วมด้วย
4. คอพอกเป็นพิษ มีอาการถ่ายเหลวเรื้อรังร่วมกับอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ใจสั่น น้ำหนักลด
5. มะเร็งของลำไส้ จะมีอาการท้องเดินสลับท้องผูกเรื้อรัง อาจถ่ายเป็นเลือดสด หรือมีมูกปนเลือด ระยะท้ายจะมีอาการอ่อนเพลีย น้ำหนักลด

เมื่อไรควรไปหาหมอ
1. มีไข้ อ่อนเพลีย หรือน้ำหนักลดร่วมด้วย
2. ถ่ายมีเลือดปน
3. ถ่ายกลางดึกหลังเข้านอนแล้ว
4. มีอาการครั้งแรกเมื่ออายุมากกว่า 4o ปี (โดยก่อนหน้านี้ไม่เคยมีอาการท้องเดินบ่อยๆ)
5. มีความวิตกกังวลว่าจะเป็นโรคร้ายแรง

แพทย์จะทำอะไรให้

ถ้าซักถามและตรวจร่างกายแล้วแน่ใจว่าเป็นโรคธาตุอ่อนจริง ก็จะแนะนำให้คนไข้ปฏิบัติตัวดังกล่าว ในรายที่มีความเครียดมากๆ อาจให้กินยากล่อมประสาท-ไดอะซีแพม ซึ่งจะช่วยให้อาการถ่ายท้องทุเลาไปได้ ในรายที่ไม่แน่ใจจริงๆ แพทย์อาจทำการตรวจหาสาเหตุ เช่น ตรวจอุจจาระ (ดูว่ามีตัวพยาธิหรือไม่ มีเลือดออกหรือไม่) ตรวจเลือด เอกซเรย์โดยการสวนแป้งแบเรียมทางลำไส้ใหญ่ หรือใช้กล้องส่องตรวจทางทวารหนัก (ดูว่ามีความผิดปกติอะไรหรือไม่) ถ้าพบโรคที่เป็นสาเหตุ ก็จะให้การรักษาตามสาเหตุที่พบ

โดยสรุป โรคธาตุอ่อนจะเกิดกับคนบางคนเป็นเฉพาะ เนื่องจากลำไส้ไวต่อสิ่งเร้า ได้แก่ ความเครียด และ อาหารบางชนิด เป็นโรคที่ไม่มีอันตรายร้ายแรง แต่จะเป็นประจำตัวไปตลอดชีวิต ควรหาทางปฏิบัติดูแลตัวเองให้เหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต้องหลีกเลี่ยงอาหารที่เป็นสาเหตุกระตุ้น ฝึกผ่อนคลายความเครียด และออกกำลังกายเป็นประจำ
การดูแลรักษาตนเอง

คนที่มีอาการท้องเดินเป็นประจำ เป็นๆหายๆ มาเป็นแรมปี ถ้าสุขภาพทั่วไปยังแข็งแรงดี ก็มักมีสาเหตุมาจาก “โรคธาตุอ่อน” ควรปฏิบัติตัว ดังนี้

1. สังเกตดูว่า เกิดจากการกินอาหารประเภทใด เช่นรสเผ็ด รสเปรี้ยว น้ำส้มสายชู (ใส่ในก๋วยเตี๋ยว) กะทิ เหล้า นมสด ชา กาแฟ ฯลฯ แล้วพยายามหลีกเลี่ยงเสีย ก็จะทำให้อาการดีขึ้นได้
2. หมั่นออกกำลังกายเป็นประจำเพื่อคลายเครียด
3. กินผักและผลไม้ให้มากๆ อาจกินเมล็ดแมงลัก (2-3 ช้อนชา ผสมในน้ำหวาน 1 แก้ว) ก่อนนอนทุกคืนก็ได้
4. ถ้าจำเป็นต้องเดินทางไกล หรือมีกิจธุระจำเป็น (เช่น สอบ) หากกลัวจะมีอาการท้องเดิน ให้กินยาแก้ท้องเดิน ได้แก่ โลโมติล (Lomotil) หรืออิโมเดียม (Imodium) 1 เม็ด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการท้องเดิน (ยานี้ไม่ควรกินเป็นประจำ)


ข้อมูลจาก : นิตยสารหมอชาวบ้าน
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ