8/21/2554

ทารกคลอดก่อนกำหนด เสี่ยงสมาธิสั้น

วารสารทางกุมารเวชศาสต์ (Pediatrics) เผยว่า ทารกที่คลอดก่อนกำหนดตั้งแต่ 3 สัปดาห์ขึ้นไปเสี่ยงต่อการเป็นโรคสมาธิสั้น (ADHD) โดยยิ่งทารกคลอดก่อนกำหนดเป็นเวลามากขึ้นเท่าไร ก็เสี่ยงต่อโรคสมาธิสั้นมากขึ้นเท่านั้น

ปัจจุบันมีเด็กและผู้ใหญ่ในอเมริกาประมาณ 3-5% ที่เป็นโรคสมาธิสั้น ซึ่งมีอาการไม่มีสมาธิจดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้นาน อยู่ไม่สุก หุนหันพลันแล่น

นักวิจัยชาวสวีเดนได้ศึกษาเด็กๆ กว่าหนึ่งล้านคนที่เกิดระหว่างปี 1987 และปี 2000 โดยพบว่าเด็กจำนวน 7,506 คน อายุระหว่าง 6 ถึง 19 ปี ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคสมาธิสั้น และผลวิจัยชี้ว่าเด็กที่คลอดก่อนกำหนดเสี่ยงต่อการเป็นโรคสมาธิสั้น โดยเด็กที่อยู่ในครรภ์ 37-38 สัปดาห์ จะเสี่ยงเป็นโรคสมาธิสั้นมากกว่าเด็กปกติ 10-20% และความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ถึง 60% ในเด็กที่อยู่ในครรภ์ 23-28 สัปดาห์

ดังนั้นเพื่อลดความเสี่ยงโรคสมาธิสั้น นักวิจัยแนะว่า ถ้าเป็นไปได้ควรวางแผนคลอดทารกในอายุครรภ์ 40 สัปดาห์จะดีที่สุดค่ะ

ข้อมูลจาก Mother&Care

เคล็ดลับ เลือกแว่นกันแดดเด็ก

ในเด็กเล็กอาจมีโอกาสเล่นซุกซนจนทำให้แว่นตาเสียหายได้ จึงควรเลือกแว่นตาที่ใช้เลนส์พลาสติก ส่วนกรอบควรเลือกที่คุณภาพ ราคาเหมาะสม ขนาดเท่ากับตาลูก หรือถ้าอยากให้ลูกใส่แว่นที่ดูมีสีสันควรเลือกโทนสีเทา น้ำตาลหรือเขียว เพื่อให้มองเห็นสีได้เป็นธรรมชาติ ไม่ผิดเพี้ยน อย่าเลือกสีแดง น้ำเงิน เพราะอาจทำให้แสงความยาวคลื่นที่อันตรายผ่านเข้าดวงตาได้ ส่วนรูปทรงของแว่นควรเลือกให้เข้ากับใบหน้าลูก เช่น ถ้าใบหน้ารูปสามเหลี่ยมควรใช้กรอบแว่นทรงกลมหรือทรงรี ใบหน้ากลมควรใช้แว่นทรงรีหรือทรงสี่เหลี่ยน หรืออื่นๆเป็นต้น

ข้อมูลจาก Mother&Care

8/03/2554

ไวรัสตับอักเสบ B ตรวจง่าย รักษาได้ทันท่วงที

ไวรัสตับอักเสบ ภัยเงียบที่เรื่อยๆมาเรียงๆ ไม่แสดงอาการปรากฏ ผู้ติดเชื้อมักไม่มีอาการเตือนใดๆ จึงไม่ทราบว่าตนเองมีเชื้อ ซึ่งหากพบอีกทีเชื้อไวรัสอาจจะพาลเข้าสู่ตับไปแล้วก็ได้ค่ะ


ส่วนใหญ่แล้วอาการของผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี มักปรากฏอาการตอนที่โรคเข้าสู่ระยะลุกลาม ขั้นตับถูกทำลายไม่สามารถรักษาได้ ผู้ป่วยในเมืองไทยมีเพียง 30% เท่านั้นที่ทราบว่าตนเองมีเชื้อ ส่วนในสถานการณ์โลกนั้นประชากรถึง 1 ใน 3 เคยติดเชื้อในช่วยหนึ่งของชีวิต และในจำนวนนั้นมีถึง 350 ล้านคนที่เป็นชนิดเรื้อรัง (ติดนานเกิน 6 เดือน) โดยที่ภูมิต้านทานของร่างกายไม่สามารถขจัดออกไปได้ มีอัตราการตายทั่วโลกถึง 1 ล้านคน/ปี และในประเทศไทยมีคนติดเชื้อมากถึงร้อยละ 5/ปี (ราว 3.5ล้านคนทั่วประเทศ) จากสถิติปี 2552 พบว่าคนที่เสียชีวิตด้วยมะเร็งตับ 25,000 คนนั้นพัฒนาจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีถึง 70% รศ.นพ.ธีระ พัรัชวิสุทธิ์ นายกสมาคมโรคตับ(ประเทศไทย)กล่าว

ซึ่งกลุ่มเสี่ยงจะอยู่ในผู้ที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไป จึงควรไปตรวจคัดกรอง เพราะการตรวจไม่ได้ใช้เวลานานอย่างที่คิด เพียง 15 นาทีเท่านั้น ด้วยการเจาะเลือด (HBsAg Positive) ซึ่งการตรวจวิธีนี้อาจต้องตามดูผลอีกครั้ง เพราะเชื้ออาจหายไปได้เอง แต่ถ้าผ่านมาแล้ว 6 เดือนยังตรวจพบเชื้อ อาจอยู่ในกลุ่มพาหะเรื้อรัง และถ้าต้องการตรวจละเอียดเพื่อประเมินระยะความรุนแรงและภาวะแทรกซ้อน สามารถตรวจ HBeAg และanti-HBe เพื่อดูการแบ่งตัวหรือการกลายพันธุ์ของเชื้อ ตรวจหาปริมาณเชื้อไวรัส (HBV DNA) เพื่อประกอบการรักษา ตรวจชิ้นเนื้อตับเพื่อบอกความรุนแรงของการอักเสบ และมะเร็งตับด้วยการตรวจอัลฟาฟีโตโปรตีน (AFP) ร่วมกับการอัลตราซาวนด์ เมื่อรู้ว่าตนเองอยู่ในกลุ่มเสี่ยงมีประวัติคนในครอบครัวเคยเป็น หรือมีอายุถึงเกณฑ์เสี่ยงก็มาตรวจ

จากมูลจาก Cosmopolitan –งาน Get Tested-Get Treated ไวรัสตับอักเสบบี ตรวจง่าย รักษาได้ทันท่วงที

เพิ่มสารอาหาร 13 ชนิด เพื่อลูกวัยเตาะแตะ


ลูกวัย 1-3 ปีมีความต้องการสารอาหารเพื่อการเจริญเติบโตของร่างกายและสมองหลายชนิด สารอาหารที่สำคัญมีดังนี้ค่ะ

วิตามินเอ ช่วยบำรุงสายตา รักษาสุขภาพผิว ช่วยให้เส้นผม เหงือกแข็งแรง ส่งเสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน พบในผักผลไม้สีเหลือง ส้ม แดง เขียว เช่น ฟังทอง มะละกอ มะเขือเทศ แครอท ตำลึง ผักโขม

วิตามินดี ช่วยดูดซึมแคลเซียมและฟอสฟอรัส ช่วยสร้างกระดูกและฟัน ช่วยให้เติบโตได้ดี ร่างกายสร้างวิตามินดีได้เมื่อผิวได้รับแสงแดดอ่อนๆ ถ้าไม่ถูกแสงแดดควรได้รับจากสารอาหาร เช่น น้ำมันตับปลา นม เนย ตับ ปลา ไข่แดง

วิตามินซี ช่วยดูดซึมธาตุเหล็ก สร้างคอลลาเจนช่วยเชื่อมเนื้อเยื่อต่างๆ ทำให้เหงือก ฟัน กระดูก ผิวแข็งแรง ป้องกันเลือดออกตามไรฟัน พบมากในหน่อไม้ฝรั่ง พริกหวาน บร๊อกโคลี กะหล่ำปลี แคนตาลูป ผลไม้รสเปรี้ยว

วิตามินบี 1 จำเป็นต่อการทำงานของระบบประสาท ระบบหายใจ หัวใจ กล้ามเนื้อ ช่วยให้เจริญอาหาร ช่วยในการเติบโต ร่างกายไม่อาจสังเคราะห์ได้ต้องกินจากอาหาร เช่น เนื้อหมู ข้าวกล้อง ถั่ว งา ธัญพืช ไข่ นม ตับ

วิตามินบี 2 ช่วยในการเจริญเติบโต เมื่อขาดร่างกายจะแคระแกร็น ช่วยในการเผาผลาญอาหารอย่างแป้งและไขมัน ช่วยบำรุงประสาทและสายตา ทำให้ลูกเติบโตดี พบมากในนม เนย ไข่ ยีสต์ เนื้อสัตว์ ตับ ผักใบเขียว

วิตามินบี 12 ช่วยสร้างเม็ดเลือดแดง ช่วยในการเติบโตและเจริญอาหาร ช่วยให้ระบบประสาททำงานได้ดี ช่วยให้สมองมีความจำดี มีสมาธิดี พบมากในตับ เนื้อสัตว์ ไข่แดง นม เนย กะปิ น้ำปลา เต้าเจี้ยว

แคลเซียม จำเป็นต่อการสร้างและรักษากระดูกและฟันให้แข็งแรง ช่วยให้ระบบประสาทและกล้ามเนื้อทำงานได้ดี ช่วยให้เลือดแข็งตัวดี พบในนม ปลาตัวเล็กตัวน้อยที่กินได้ทั้งก้าง ถั่ว กุ้งแห้ง คะน้า เต้าหู้

ฟอสฟอรัส ช่วยในกระบวนการเผาผลาญอาหารให้ร่างกายนำแคลเซียมไปเพิ่มความแข็งแรงของกระดูกและฟัน พบในเนื้อสัตว์ เครื่องในสัตว์ ปลาทูสด ปู นมไข่แดง ผักและผลไม้ เช่น เมล็ดทานตะวัน งา

เหล็ก เป็นส่วนประกอบของฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดง ซึ่งทำหน้าที่นำออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่างๆ มีความสำคัญต่อการพัฒนาสมอง ทำให้สมองจดจำดี พบมากในเนื้อแดง เครื่องในสัตว์ ตับ เลือดหมู ถั่ว ผักใบเขียว

สังกะสี กระบวนการทำงานเกือบทุกระบบในร่างกายล้วนต้องการสังกะสีเป็นส่วนประกอบ สังกะสีจึงเป็นแร่ธาตุที่ร่างการต้องการ ซึ่งต้องได้รับจากอาหารที่มีสังกะสี เช่น เนื้อสัตว์ ไข่แดง นม ธัญพืช ถั่ว

ไอโอดีน จำเป็นต่อการสร้างฮอร์โมนของต่อมไทรอยด์ที่เข้าสู่กระแสเลือด ทำหน้าที่ควบคุมอวัยวะต่างๆ ของร่างกายให้ทำงาน พัฒนาระบบสมองและประสาท พบในเกลือหรือผลิตภัณฑ์ที่เสริมไอโอดีน อาหารทะเล

กรดไขมัน เนื้อสมองประมาณ 60% ประกอบด้วยกรดไขมันไม่อิ่มตัวหรือดีเอชเอ ซึ่งมีความสำคัญต่อ การพัฒนาสมองและสายตา ซึ่งร่างกายควรได้รับจากอาหาร เช่น ปลาทูน่า ปลาแซลมอน สาหร่ายทะเล และนม



ข้อมูลจาก Mother&Care