2/13/2554

กรดไหลย้อน โรคฮิตของคนเมือง

โรคกรดไหลย้อน (Gastroesophageal Reflux Disease)

หรือ เรียกสั้นๆ ว่า GERD เป็นภาวะที่ของเหลวในกระเพาะอาหารไหลย้อนไปสู่หลอดอาหาร ทำให้หลอดอาหารอักเสบและเป็นแผล โดยของเหลวที่ไหลย้อนนี้ประกอบด้วยกรดและเปปซิน (pepsin) ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ย่อยโปรตีนในกระเพาะอาหาร เชื่อกันว่ากรดเป็นส่วนประกอบที่อันตรายที่สุดของของเหลวที่ไหลย้อนนี้ การไหลย้อนของกรดเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งทั้งในคนปกติ และผู้ป่วยโรคกรดไหลย้อน แต่ผู้ป่วยโรคกรดไหลย้อนนั้นของเหลวที่ไหลย้อนจะมีกรดมากกว่าและไหลย้อนไปที่ระดับสูงกว่าในหลอดอาหาร รวมทั้งกรดคงอยู่ในหลอดอาหารนานกว่า

ผู้ที่เป็นกรดไหลย้อนจะมีอาการเจ็บหน้าอก ปวดแสบร้อนที่ตรงกลางหน้าอก หลังกระดูกหน้าอก เริ่มปวดจากบริเวณท้องส่วนบนและลามขึ้นไปที่คอ และมักจะมีอาการแย่ลงหลังรับประทานอาหาร และมีอาการต่อเนื่องนานประมาณ 2 ชั่วโมง รู้สึกขมในปาก และรู้สึกแน่นหรือมีอาหารจุกอยู่ที่คอค่ะ

คำแนะนำ

สำหรับผู้ที่เป็นโรคหรือเข้าข่ายอาการกรดไหลย้อนนะคะ

  • ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติและพยายามลดน้ำหนักส่วนเกิน ผู้ที่มีน้ำหนักเกินและผู้ที่เป็นโรคอ้วนมีโอกาสเป็นโรคกรดไหลย้อนมากกว่าผู้ที่มีน้ำหนักปกติ
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารมื้อใหญ่ เพราะจะทำให้เพิ่มปริมาณการหลั่งกรด
  • หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้น เช่น อาหารที่มีไขมันมาก ช็อกโกแลต กาแฟ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาหารที่มีสะระแหน่ อาหารเผ็ด ผลไม้รสเปรี้ยว เช่น ส้ม มะนาวและอาหารที่มีมะเขือเทศเป็นส่วนประกอบหลัก เพราะอาหารเหล่านี้ลดประสิทธิภาพของกล้ามเนื้อหูรูดหลอดอาหารส่วนล่าง
  • หยุดสูบบุหรี่ เพราะการสูบบุหรี่ทำให้กล้ามเนื้อหูรูดหลอดอาหารส่วนล่างอ่อนแอลง และเพิ่มโอกาสในการเกิดกรดไหลย้อน
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารในช่วงระยะเวลา 3 ชั่วโมงก่อนนอน เพื่อให้ท้องว่างและการผลิตกรดลดลง ไม่ควรนอนหลังจากรับประทานอาหารทันที
  • ยกระดับศีรษะเวลานอนให้สูงกว่าส่วนอื่นๆ ของร่างกาย เพื่อป้องกันการเกิดกรดไหลย้อน
  • การยืนตัวตรงหรือนั่งหลังตรง ช่วยทำให้อาหารและกรดไม่ไหลย้อนกลับไปที่หลอดอาหาร
  • หลีกเลี่ยงการงอตัว ก้มตัว ในขณะที่กระเพาะอาหารเต็ม
  • หลีกเลี่ยงการใส่เสื้อผ้าหรือเข็มขัดที่รัดแน่น เพื่อป้องกันการเกิดแรงกดต่อกระเพาะอาหารและกล้ามเนื้อหูรูดหลอดอาหารส่วนล่าง

การรักษา : ทานยาลดกรด , การเคลือบกระเพาะอาหาร, Histamine-2 receptor blocker, Proton pump inhibitor (PPI)

ข้อมูลจาก HealthToday

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น