5/30/2554

แคลเซียมในเต้านม…อันตรายจริงหรือ?

ในการปฏิบัติงานประจำที่ศูนย์วินิจฉัยเต้านม มักจะมีคำถามจากผู้ที่มาตรวจเกี่ยวกับเรื่องแคลเซียมหรือหินปูนในเต้านมเสมอว่าคืออะไร เป็นอันตรายไหม ทำไมบางคนถึงมี บางคนไม่มี ต้องผ่าตัดออกหรือไม่ ฯลฯ จึงขออนุญาตเล่าเรื่องแคลเซียมหรือหินปูนในเต้านมเพื่อคนที่อยากรู้จะได้หมดข้อสงสัยและหายความกังวลกันเสียที


แต่ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจคำว่าแคลเซียมในเต้านม หรือที่เรียกง่ายๆในภาษาไทยว่าหินปูนในเต้านมกันก่อนว่าคืออะไร จริงๆแล้วหินปูนเป็นสารประกอบทางเคมีที่เรียกว่าแคลเซียมคาร์บอเนต ซึ่งเป็นแค่ส่วนหนึ่งของสารประกอบแคลเซียมในเต้านม เนื่องจากในเต้านมยังมีสารประกอบแคลเซียมชนิดอื่นๆอีก เช่น แคลเซียมฟอสเฟต เป็นต้น ดังนั้นเพื่อลดความสับสน ในบทความนี้จึงขอเรียกทับศัพท์ว่าแคลเซียม

แคลเซียมสามารถตรวจพบได้จากการตรวจทางรังสีวิทยา โดยเฉพาะจากการถ่ายภาพเอกซเรย์เต้านม หรือ แมมโมแกรมนั่นเอง โดยจะเห็นเป็นสีขาวๆ ขนาดตั้งแต่จุดเล็กๆ เท่าเม็ดทรายจนถึงก้อนใหญ่เท่านิ้วหัวแม่มือ โดยทั่วไปไม่สามารถตรวจพบแคลเซียมโดยการคลำเต้านมยกเว้นแคลเซียมนั้นเกิดร่วมกับก้อนเนื้อที่ทำให้สามารถคลำพบได้

ถ้าแบ่งตามลักษณะรูปร่างแคลเซียมในเต้านมจะมีกว่า 10 ประเภท แต่เพื่อให้ง่ายกว่านั้นจะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ แคลเซียมที่เกิดในเนื้อเยื่อเต้านมและแคลเซียมที่อยู่ในก้อนเนื้องอกในเต้านม

โดยแคลเซียมที่เกิดในเนื้อเยื่อเต้านม อาจแบ่งย่อยออกเป็น

• แคลเซียมที่มีต้นกำเนิดจากท่อน้ำนม แคลเซียมชนิดนี้มีความสำคัญมาก เพราะบางชนิดเป็นแคลเซียมชนิดร้าย ซึ่งก็คือแคลเซียมที่พบในมะเร็งเต้านม โดยเฉพาะมะเร็งเต้านมระยะ 0 หรือระยะเริ่มต้นที่ยังไม่ลุกลามออกนอกท่อน้ำนม แต่ไม่ใช่ว่าแคลเซียมที่เกิดในท่อน้ำนมทุกชนิดจะเป็นมะเร็งเสมอไป

• แคลเซียมที่เกิดในเนื้อเต้านม ซึ่งเป็นชนิดที่พบได้บ่อย แต่ส่วนใหญ่เป็นชนิดที่ไม่อันตราย

• แคลเซียมที่เกิดในเส้นเลือดในเต้านม แคลเซียมชนิดนี้จะจับที่ผนังเส้นเลือดแดงลักษณะคล้ายรางรถไฟ พบบ่อยในผู้สูงอายุ หรือมีโรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ

• แคลเซียมที่เกิดที่ผิวหนังของเต้านม แคลเซียมชนิดนี้พบบ่อยในบริเวณผิวหนังของเต้านมที่มีต่อมเหงื่อ ต่อมไขมันจำนวนมาก เช่น บริเวณด้านล่างของเต้านมหรือหางเต้านมที่ยื่นไปทางรักแร้ นอกจากนี้ในผู้ที่มีแผลเป็นหนาๆ หรือคีลอยด์บริเวณเต้านมอาจพบแคลเซียมอยู่ภายในแผลเป็นได้เช่นกัน

ส่วนแคลเซียมที่อยู่ในก้อนเนื้องอกในเต้านม ซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่อีกกลุ่มที่ไม่ได้เกิดจากตัวเนื้อเยื่อเต้านม แต่เกิดในสิ่งแปลกปลอมในเต้านมที่มีขึ้นภายหลังนั้น ได้แก่

• แคลเซียมที่เกิดร่วมกับก้อนเนื้อ ซึ่งเกิดได้ทั้งกับก้อนเนื้องอกธรรมดาและก้อนมะเร็ง อันจะมีลักษณะแตกต่างกัน คือ แคลเซียมที่เกิดในเนื้องอกธรรมดาที่เรียกว่า fibroadenoma ซึ่งเป็นเนื้องอกธรรมดาที่พบบ่อยที่สุด จะมีลักษณะเฉพาะที่เรียกว่า “popcorn” เพราะมีลักษณะเหมือนข้าวโพดคั่ว

• แคลเซียมที่เกิดภายหลังการบาดเจ็บที่เต้านม ไม่ว่าจะเป็นจากอุบัติเหตุ ถูกกระแทก หลังผ่าตัดเต้านม หลังฉายรังสี

เมื่อแยกประเภทของเต้านมเป็นกลุ่มต่างๆ ข้างต้น จะเห็นว่า ส่วนใหญ่แล้วแคลเซียมในเต้านมไม่ใช่มะเร็ง (แคลเซียมที่เป็นมะเร็ง คือ แคลเซียมบางชนิดในท่าน้ำนมและแคลเซียมในก้อนมะเร็ง) ดังนั้นเมื่อท่านตรวจแมมโมแกรม แล้วคุณหมอแจ้งว่า พบแคลเซียมในเต้านมก็อย่างพึ่งตกอกตกใจไป ขอให้ฟังคุณหมอก่อนว่าจะให้ทำอย่างไรต่อไป ซึ่งมีตั้งแต่ให้มาตรวจประจำปี (หมายความว่าไม่อันตรายแน่นอน) ตรวจติดตามผลระยะสั้นในอีก 6 เดือน หรือแนะนำให้เจาะชิ้นเนื้อตรวจ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับลักษณะและการกระจายตัวของแคลเซียมที่พบ

มีคำถามหนึ่งที่อาจจะค้างคาใจใครหลายๆคนนั่นคือ “แคลเซียมในเต้านมเกี่ยวข้องกับนม ตลอดจนยาแคลเซียมเสริมหรือไม่” ทั้งนี้เนื่องจากผู้หญิงส่วนใหญ่ที่มาตรวจเช็คมะเร็งเต้านม มักจะได้ยาเม็ดแคลเซียมเสริมและดื่มนมเป็นประจำ เพื่อป้องกันภาวะกระดูกพรุนในวัยหมดประจำเดือนด้วย ขอบอกให้สบายใจว่าแคลเซียมที่รับประทานเข้าไปไม่ได้ไปจับในเต้านม หรือทำให้พบแคลเซียมในเต้านมเพิ่มขึ้น ขอให้ดื่มนมหรือรับประทานแคลเซียมต่อไปจะได้ประโยชน์มากกว่าค่ะ

หวังว่าเมื่อได้ทราบข้อมูลดังนี้แล้ว ท่านที่ตรวจพบแคลเซียมในเต้านมจะได้ไม่ต้องกังวล เพราะส่วนใหญ่แล้วแคลเซียมในเต้านมไม่อันตราย และพบได้บ่อยในการตรวจเช็คมะเร็งเต้านมด้วยแมมโมแกรมค่ะ



ข้อมูลจาก ผศ.พญ.ชลทิพย์ วิรัตกพันธ์ รังสีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเต้านม
                     HealthToday

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น