5/14/2554

วัณโรค ภัยร้ายใกล้ตัว

วัณโรคคืออะไร

วัณโรค (tuberculosis) เป็นโรคติดเชื้อชนิดหนึ่งที่เกิดจากเชื้อ mycobacterium tuberculosis โดยส่วนใหญ่การติดเชื้อชนิดนี้จะเกิดจากการที่มีผู้ป่วยซึ่งเป็นวัณโรคปอดและมีเชื้อโรคอยู่ในเสมหะมีการไอ ทำให้เชื้อโรคฟุ้งกระจายในอากาศ และมีผู้อื่นหายในเอาเชื้อเข้าไป อย่างไรก็ตาม การติดเชื้อวัณโรคไม่ได้ติดต่อกันได้ง่ายและรวดเร็วเหมือนการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ แต่ผู้ที่จะได้รับเชื้อวัณโรคมักต้องมีการอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยเป็นวัณโรคในระยะแพร่เชื้อสักระยะหนึ่ง โดยที่เชื้อวัณโรคจะมีการแพร่กระจายทางการหายใจเป็นหลัก และไม่ติดต่อโดยการรับประทานอาหารหรือการสัมผัส

วัณโรคทำให้เกิดโรคได้อย่างไร

เมื่อมีการรับเชื้อวัณโรคเข้าไปในร่างกาย ผู้ที่รับเชื้อส่วนหนึ่งจะเกิดการติดเชื้อขึ้น ในระยะนี้ผู้ป่วยมักมีอาการไม่มาก อาจมีไข้และไอบ้าง ถ้าภูมิคุ้มกันของร่างกายเป็นปกติร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันวัณโรคขึ้นมา ซึ่งจะทำให้เชื้อวัณโรคเข้าไปหลบอยู่ตามต่อมน้ำเหลืองหรือที่อวัยวะอื่นๆ เราเรียกระยะการติดเชื้อนี้ว่า การติดเชื้อแบบปฐมภูมิ (primary infection) โดยหลังจากการติดเชื้อแบบปฐมภูมิ ผู้ป่วยจะยังไม่มีอาการ เพียงแต่ถ้าไปตรวจจะพบว่า มีภูมิต่อเชื้อวัณโรค หรือถ้าถ่ายภาพรังสีทรวงอกอาจพบรอยแผลเป็นเล็กๆ หรือภาวะหินปูนเกาะในปอด แต่จะไม่ปรากฎอาการอย่างอื่นเลย ซึ่งเราจะเรียกระยะนี้ว่าระยะการติดเชื้อแฝง (latent infection)

ในผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อในระยะแฝง ส่วนหนึ่งจะเกิดการเจริญเติบโตของเชื้อวัณโรคขึ้นมาได้เองในภายหลัง (reactivation of tuberculosis) เมื่อร่างกายอ่อนแอลง ประมาณว่าในผู้ติดเชื้อแฝง 100 คน จะมีโอกาสเกิดโรควัณโรคขึ้นมาใหม่ประมาณ 10 คนหรือร้อยละ 10 โดยเกิดขึ้นได้บ่อยในช่วง 2-3 ปีแรกภายหลังการรับเชื้อวัณโรคเข้าไป ซึ่งการเกิดโรคขึ้นใหม่มักจะเกิดขึ้นในปอด ทำให้ผู้ป่วยมีการอักเสบเรื้อรังในปอด มีอาการไอเรื้อรัง มีไข้ต่ำๆ อาจมีเหงื่อออกในตอนกลางคืน และน้ำหนักลดลง รวมถึงจะตรวจพบว่ามีภาพรังสีทรวงอกที่ผิดปกติ ซึ่งระยะนี้คือการป่วยเป็นวัณโรคที่เราเข้าใจกันทั่วๆไปนั่นเอง อย่างไรก็ตาม มีผู้ป่วยวัณโรคปอดส่วนหนึ่งที่อาจจะไม่มีอาการเลย เพียงแต่ตรวจพบว่ามีภาพรังสีปอดที่ผิดปกติแต่เพียงอย่างเดียว ซึ่งถ้าไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม ผู้ป่วยเหล่านี้ก็จะมีอาการเกิดขึ้นได้ในระยะต่อไป

นอกจากเกิดโรคที่ปอดแล้ว เชื้อวัณโรคอาจทำให้เกิดโรคที่อวัยวะอื่นๆ นอกปอดได้เช่นกัน เช่นที่กระดูก เยื่อหุ้มสมอง ลำไส้ โดยจะมีอาการแสดงของโรคตามแต่ละอวัยวะที่เกิดการติดเชื้อขึ้น เช่น ต่อมน้ำเหลืองโต ปวดศีรษะ เป็นต้น


อุบัติการณ์วัณโรคในเมืองไทย

จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก ประเทศไทยมีสถานการณ์ความรุนแรงของวัณโรคอยู่ในอันดับที่ 18 ของโลก โดยมีการพบผู้ป่วยวัณโรครายใหม่ปีละประมาณ 90,000 ราย และมีผู้ป่วยที่เสียชีวิตจากวัณโรคปีละ 5,000-7,000 คน โดยพบว่าวัณโรคสามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย แต่ผู้ที่มีความเสี่ยงมากได้แก่ผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น ติดเชื้อ HIV


วัณโรครักษาอย่างไร

การรักษาวัณโรคในปัจจุบันใช้หลักการใช้ยาหลายชนิดร่วมกัน โดยต้องรับประทานยาต่อเนื่องเป็นเวลาอย่างน้อย 6 เดือน แต่ในผู้ป่วยบางรายหรือสูตรยาบางชนิดอาจจะใช้เวลานานกว่านั้น ด้วยเหตุนี้สาเหตุที่ทำให้การรักาวัณโรคล้มเหลวบ่อยที่สุดที่พบก็คือ ผู้ป่วยรับประทานยาไม่ครบตามที่กำหนด ซึ่งอาจจะเกิดจากผลข้างเคียงของยาทำให้ไม่อยากรับประทานยาต่อ หรือบางครั้งเกิดจากการที่ผู้ป่วยหยุดยาเอง เพราะมีอาการดีขึ้นหลังจากรักษาไปได้ระยะหนึ่ง โดยเข้าใจว่าตัวเองหายแล้ว ซึ่งการรับประทานยาวัณโรคไม่ครบจะมีอันตรายมาก เพราะนอกจากจะรักษาไม่หายแล้ว ยังทำให้เชื้อที่เหลืออยู่มีโอกาสกลายเป็นเชื้อดื้อยามากขึ้น ดังนั้นการรักษาวัณโรคจึงจำเป็นต้องมีระบบการติดตามผู้ป่วยที่ดี คือถ้าผู้ป่วยไม่มารับยาต้องมีการติดตาม และผู้ป่วยควรเลือกสถานที่รักษาที่ไปรับยาได้สะดวก

เพราะปัจจุบันการรักษาวัณโรคจะใช้ยาสูตรมาตรฐานเหมือนกันทั่วประเทศ ฉะนั้นไม่ว่าจะรักษาที่ใดก็สามารถรักษาหายได้เหมือนกัน จึงขอแนะนำให้ผู้ป่วยไปรับการรักษาในสถานที่ที่สะดวกที่สุด เมื่อผู้ป่วยรักประทานยาต่อเนื่องไประยะหนึ่ง อาการจะดีขึ้นและเชื้อที่พบในเสมหะก็จะน้อยลง และจะไม่แพร่เชื้ออีกต่อไป จึงไม่จำเป็นต้องรักษาให้ครบก่อนถึงจะกลับไปทำงานได้ เพราะประมาณ 2-4 สัปดาห์หลังการรักษา ปริมาณเชื้อก็จะน้อยลงมากจนไม่น่าจะแพร่เชื้อได้แล้ว



ถ้าคนใกล้ชิดเป็นวัณโรค

สิ่งแรกที่แพทย์จะแนะนำให้กับผู้ที่มีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วยวัณโรคอย่างใกล้ชิด คือ พยายามสืบค้นก่อนว่าผู้สัมผัสโรคดังกล่าวมีภาวะวัณโรคเกิดขึ้นหรือยัง ด้วยการซักประวัติว่ามีอาการบ่งชี้หรือไม่ เช่น ไอเรื้อรัง มีไข้ เหงื่อออกตอนกลางคืน หรือน้ำหนักลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุหรือเปล่า รวมถึงทำการตรวจเพิ่มเติมว่า มีภาพรังสีปอดที่ผิดปกติหรือไม่ ถ้าพบว่ามีวัณโรคก็จะให้การรักษาแบบผู้ป่วยวัณโรค ส่วนในกรณีที่ไม่พบว่าเป็นวัณโรค การจะบอกว่าผู้ป่วยมีการติดเชื้อแฝง (หรือเคยรับเชื้อเข้าไปหรือยัง) สามารถทำได้โดยวิธีอ้อมๆ คือ การทดสอบภูมิคุ้มกันต่อวัณโรค โดยหมอจะทำการฉีดสารสกัดจากเชื้อวัณโรคเข้าไปใต้ผิวหนัง และรอเป็นเวลา 48 ชั่วโมงแล้วจึงวัดในบริเวณที่ฉีดว่าเกิดปฏิกิริยาขึ้นหรือไม่ ถ้าเกิดปฏิกิริยาเป็นบวก (คือมีตุ่มแดงขนาดเกิน 10 มิลลิเมตร) แสดงว่าผู้ถูกทดสอบมีภูมิต่อเชื้อ ซึ่งหมายถึงว่าอาจเคยติดเชื้อมาก่อน

อย่างไรก็ตาม การทดสอบทางผิวหนังแล้วเกิดปฏิกิริยาเป็นบวกพบได้บ่อยในคนไทยทั่วๆไป ดังนั้นการที่มีผลการทดสอบทางผิวหนังเป็นบวก ไม่ได้หมายความว่าคนนั้นป่วยเป็นวัณโรคแล้ว แต่อาจจะเกิดจากการฉีดวัคซีนบีซีจีตั้งแต่เกิด หรือเคยมีการรับเชื้อมาก่อน ดังนั้นการทดสอบทางผิวหนังจึงไม่ค่อยมีประโยชน์มากนักในคนไทย แต่ในผู้ป่วยบางรายที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดวัณโรคสูง เช่น ในเด็กเล็ก ผู้ป่วยที่ภูมิคุ้มกันไม่ดี แพทย์อาจพิจารณาให้การรักษาโดยให้รับประทานยาต้านวัณโรค 1 ชนิดเป็นเวลา 6-9 เดือนเพื่อป้องกันโอกาสการเกิดโรคในอนาคต

วัณโรคดื้อยาคืออะไร

ยามาตรฐานที่ใช้ในการรักษาวัณโรค (first line drugs) มีอยู่ประมาณ 5 ชนิด โดยทั่วไปการใช้ยาสูตรมาตรฐาน รักษาวัณโรคที่ไม่ดื้อยา หากผู้ป่วยได้รับยาอย่างถูกต้องจะมีโอกาสรักษาหายขาดมากกว่าร้อยละ 90 แต่ปัจจุบันเริ่มพบว่าวัณโรคที่ดื้อต่อยามาตรฐาน โดยพบมากในผู้ป่วยที่มีประวัติการรักษาที่ไม่เหมาะสมหรือได้รับการรักษาที่ไม่ครบถ้วนมาก่อน ซึ่งปัยหาของเชื้อที่ดื้อยา คือ ถ้ามีเชื้อที่ดื้อต่อยาต้านวัณโรคหลายตัว การรักษาด้วยยามาตรฐานจะไม่ได้ผล จำเป็นต้องใช้ยาสำรอง (second line drugs) ซึ่งจะมีราคาแพงมาก และมีผลข้างเคียงสูง แต่ก็ยังสามารถรักษาให้หายขาดได้ โดยควรอยู่ในความดูแลของแพทย์ ผู้ที่มีความชำนาญ ดังนั้นแนวทางการป้องกันเชื้อดื้อยาที่สำคัญ คือ ต้องให้ผู้ป่วยวัณโรคทุกรายได้รับการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสมตั้งแต่แรก

วัคซีนป้องกันวัณโรคมีหรือไม่

จริงๆแล้วเด็กไทยเกือบทุกคนจะได้รับการฉีดวัคซีนบีซีจีตั้งแต่แรกเกิดอยู่แล้ว แต่พบว่าวัคซีนชนิดนี้อาจมีผลช่วยป้องกันการติดเชื้อวัณโรคชนิดที่รุนแรงในเด็กช่วงอายุขวบปีแรกเท่านั้น แต่ไม่มีผลในการป้องกันการเกิดโรคในผู้ใหญ่ ดังนั้นจึงถือว่าปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนที่ใช้ป้องกันวัณโรคที่ได้ผล

ดังนั้นวิธีการป้องกันการแพร่เชื้อวัณโรคที่ดีที่สุด คือ การให้การวินิจฉัยผู้ป่วยที่เป็นวัณโรคให้เร็วที่สุดและให้การรักษาที่เหมาะสม เพื่อลดโอกาสการแพร่กระจายเชื้อจากผู้ป่วย และผู้ป่วยวัณโรคในระยะแพร่เชื้อควรปฏิบัติตัวให้เหมาะสม เช่น ใช้หน้ากากอนามัย หลีกเลี่ยงการเข้าไปในที่ชุมชนจนกว่าจะได้รับการรักษาในระยะที่เหมาะสมและไม่มีการแพร่เชื้ออีกต่อไป

นอกจากนี้การรักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ การออกกำลังกายบ่อยๆ รับประทานอาหารให้ครบหมู่ รวมถึงหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดวัณโรค เช่น ไม่สำส่อนทางเพศ ไม่ใช้ยาเสพติด และการตรวจภาพรังสีปอดปีละครั้ง ก็จะช่วยให้ทุกคนปลอดภัยจากวัณโรคได้มากขึ้นอีกด้วย



ข้อมูลจาก HealthToday

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น