10/01/2554

งูสวัด

โรคงูสวัดเกิดในผู้ที่เคยเป็นอีสุกอีใสมาแล้ว โดยการติดเชื้อไวรัสตัวนี้ครั้งแรกมักเป็นในช่วงเด็ก เรียกว่าโรคอีสุกอีใส โดยในช่วงที่ไวรัสแพร่กระจาย ไวรัสจะฝังตัวอยู่ในไขสันหลัง ซึ่งมักเป็นที่เส้นประสาทรับความรู้สึก โดยไวรัสจะอยู่ในระยะสงบได้นานหลายปี แต่ถ้าต่อมาไวรัสถูกกระตุ้นและเจริญเติบโตตามเส้นประสาทเส้นที่มันฝังตัวมาสู่ผิวหนัง ก็จะทำให้เกิดงูสวัดขึ้น ส่วนใหญ่มักพบงูสวัดในผู้ใหญ่โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ งูสวัดเป็นโรคที่ติดต่อได้ แต่ผู้ที่ได้รับเชื้อจะแสดงอาการของการเป็นอีสุกอีใส (เพราะงูสวัดเกิดจากเชื้อในตัวเองของผู้เคยเป็นอีสุกอีใสมาก่อน)


สำหรับอาการของงูสวัดที่พบบ่อยคืออาการปวด ซึ่งอาจรุนแรงมาก และอาจเป็นเพียงจุดเดียว หรือปวดร้าวไปตามแนวเส้นประสาท นอกจากนี้ผู้ป่วยมักรู้สึกไม่สบาย ครั่นเนื้อครั่นตัว มีไข้ และปวดศีรษะ ภายใน 1-3 วัน หลังเริ่มมีอาการปวดจะพบตุ่มน้ำใสตามตำแหน่งผิวหนังที่มีอาการเจ็บนำมาก่อน ตุ่มน้ำมักอยู่เป็นหย่อมๆ บนผิวหนังที่อักเสบแดง หย่อมของรอยโรคมักเรียงตัวตามแนวเส้นประสาท ซึ่งมักเป็นเพียงเส้นเดียว ลักษณะที่พบหย่อมตุ่มน้ำบนผิวหนังที่อักเสบแดงและมีอาการปวดมากจึงเรียกว่า “แถบหรือเข็มขัดดอกกุหลาบจากนรก” หรือ “the band (belt) of roses from hell” ซึ่งต่อมาจะกลายเป็นตุ่มหนอง แตกออก และตกสะเก็ด งูสวัดพบได้บ่อยที่บริเวณหน้าอก ลำคอ หน้าผาก และก้น/ก้นกบ ซึ่งหลังจากรักษาหายแล้ว ผู้ป่วยมักมีอาการปวดหลังจากเป็นงูสวัดได้ โดยมักจะพบอาการปวดเพิ่มขึ้นตามอายุ และถ้าเป็นงูสวัดที่ใบหน้ามักมีอาการปวดตามมาสูงขึ้น โดยอาการปวดหลังจากเป็นงูสวัดนี้จะรักษาได้ค่อนข้างยาก แต่ก็มีการใช้ยาลดอาการปวด เช่น ยาชาชนิดทา ยาทาสารสกัดจากพริก (capsaicin) ยารับประทาน เช่น กลุ่มต้านโรคซึมเศร้า กลุ่มต้านโรคลมชัก การฝังเข็ม และการฉีดสารพิษโบทูลินั่มตรงตำแหน่งที่ปวด

ในปัจจุบันมียาต้านไวรัสทีช่วยลดอาการของงูสวัดลงได้มาก โดยพบว่ายาน้ำสมุนไพรเสลดพังพอนช่วยลดอาการปวดแสบปวดร้อน และทำให้แผลแห้งเร็วขึ้น สำหรับผู้ป่วยที่เป็นงูสวัดที่ใบหน้ารวมถึงกลุ่มผู้ป่วยที่มีภูมิต้านทานต่ำและกลุ่มผู้สูงอายุแนะนำให้ใช้ยาต้านไวรัสชนิดรับประทาน

ขอบคุณข้อมูลจาก นพ.ประวัตร พิศาลบุตร อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคผิวหนัง: HealthToday

ปอดบวม โรคภัยที่มากับหน้าฝน

โรคปอดบวมเกิดจากการติดเชื้อได้หลายชนิด ทั้งแบคทีเรีย ไวรัส แต่ส่วนใหญ่มักเกิดจากการติดเชื้อจากไข้หวัดใหญ่ ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูง หายใจหอบ เจ็บหน้าอก มีเสมหะ ไอ อาการจะเกิดต่อเนื่องจาการเป็นไข้หวัด การป้องกันในสภาวะอาการแปรปรวนแบบนี้ คือ การรักษาร่างกายให้อบอุ่น พักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงสถานที่แออัด ไม่ใช้สิ่งของร่วมกับผู้ป่วย ที่สำคัญหากมีไข้สูง มีอาการเจ็บหน้าอกร่วมด้วย มีอาการไข้ไม่ต่ำกว่า 3 วัน ควรเข้าพบคุณหมอเพื่อตรวจวินิจฉัยแบบไม่ต้องรอวินิจฉัยเอง เพราะหากรักษาช้าหรือได้รับยาไม่ถูกต้อง อาจเกิดภาวะโรคแทรกซ้อน เช่น ปอดแฟบ ,ฝีในปอด ฯลฯ ยิ่งช่วงนี้อากาศแปรปรวน ระวังสุขภาพกันด้วยนะคะ