1/20/2553

โรคอ้วนลงพุง...มฤตยูร้ายทำลายสุขภาพ


คนส่วนใหญ่มักมีน้ำหนักเพิ่มมากขึ้นอย่างมากเมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น การมีน้ำหนักเกินจากเกณฑ์มาตรฐาน อาจเป็นที่มาของ โรคอ้วนลงพุง หรือ Metabolic Syndrome ซึ่งโรคนี้เป็นกลุ่มปัจจัยเสี่ยงทาง เมตาบอลิก ประกอบด้วย อ้วนลงพุง (ไขมันในช่องท้องมากเกิน) ภาวะไขมันในเลือดผิดปกติ (ไตรกลีเซอไรด์สูง, เอชดีแอลคอเลสเตอรอลต่ำ และ แอลดีแอลคอเลสเตอรอลสูง) ความดันโลหิตสูง ระดับน้ำตาลในเลือดผิดปกติ

สำหรับเกณฑ์ในการวินิจฉัยนั้น The National Cholesteral Education Program (NCEP) Adult Treatment Panel II (ATP III), American Heart association (AHA) และ The National Heart, Lung, and Blood Institute เสนอแนะว่าหากมีปัจจัยเสี่ยง 3 ใน 5 อย่างต่อไปนี้จัดเป็น metabolic Syndrome ได้แก่ เส้นรอบวงเอวสำหรับคนเอเชีย ผู้ชายเท่ากับหรือ มากกว่า 90 เซนติเมตร ผู้หญิงเท่ากับหรือมากกว่า 80 เซนติเมตร ระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือด เท่ากับหรือมากกว่า 150 มก./ดล. เอชดีแอลคอเลสเตอรอล (ผู้ชาย- น้อยกว่า 40 มก./ดล, ผู้หญิง - น้อยกว่า 50 มก/ดล) ความดันโลหิต เท่ากับหรือมากกว่า 130/85 มม.ปรอท ระดับน้ำตาลในเลือด เท่ากับหรือมากกว่า 100 มก/ดล.พญ.รัชดา เกษมทรัพย์ ชมรมโภชนวิทยามหิดล เปิดเผยว่า โรคอ้วนลงพุง หรือ Metabolic Syndrome เป็นฆาตกรเงียบที่หลายคนคาดไม่ถึง ส่วนใหญ่เกิดจากพฤติกรรมการบริโภค กรรมพันธุ์ และการไม่ออกกำลังกาย คนที่อ้วนลงพุงจะมีไขมันสะสมในช่องท้องมากเกินไป ซึ่งไขมันที่สะสมนี้จะแตกตัวเป็นกรดไขมันอิสระเข้าสู่ตับ มีผลให้อินซูลินออกฤทธิ์ได้ไม่ดี เกิดภาวะดื้อต่ออินซูลิน จนเกิดเป็นภาวะอ้วนลงพุง ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคเรื้อรังต่างๆ ตามมา เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เบาหวาน เป็นต้น ซึ่งเราสามารถวางแผนการรับประทานอาหารด้วยการควบคุมน้ำหนัก ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินให้ถูกชนิด ปริมาณ และถูกเวลา รวมทั้งเคลื่อนไหวร่างกายให้มากขึ้น

แม้ว่าไขมันจะเป็นสาเหตุของการเกิดโรคร้ายต่างๆ แต่ไขมันเป็นสารอาหารสำคัญที่ร่างกายขาดไม่ได้ ทั้งยังเป็นส่วนประกอบในอาหารทุกมื้อจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก อ.ศัลยา คงสมบูรณ์เวช นักกำหนดอาหารขึ้นทะเบียนวิชาชีพประเทศสหรัฐอเมริกา ผู้ให้การปรึกษาด้านโภชนบำบัด ได้แนะนำว่า ในสมัยก่อนนักโภชนาการส่วนใหญ่จะแนะนำให้ผู้บริโภคทานอาหารที่มีไขมันต่ำ จนทำให้หลายคนกลัวการกินไขมัน แต่กลับบริโภคอาหารคาร์โบไฮเดรตมากขึ้น บางคนไม่กินไขมันหรือกินน้อยมากจนทำให้ขาดกรดไขมันจำเป็นไปเลยก็ว่าได้ แต่ในปัจจุบันมีข้อมูลการวิจัยใหม่ๆ แนะการเลือกชนิดของไขมันหรือน้ำมันที่ดี ในปริมาณที่เหมาะสมกับพลังงานที่ใช้ไปในชีวิตประจำวัน เพื่อลดความเสี่ยงโรคได้ น้ำมันที่ดีที่ควรรับประทาน ควรมีองค์ประกอบของกรดไขมันอิ่มตัวต่ำและไขมันไม่อิ่มตัวตำแหน่งเดียวสูง ได้แก่ น้ำมันมะกอก น้ำมันเมล็ดชา น้ำมันคาโนลา เป็นต้น ซึ่งจะช่วยลดระดับคอเลส เทอรอลโดยไม่ลดเอชดีแอล ช่วยลดไตรกลีเซอไรด์ได้ และสามารถนำไปใช้แทนคาร์โบไฮเดรตได้ด้วย

“น้ำมันเมล็ดชา” มีใช้ในราชวงศ์ซ้องของจีนมากว่า 2,300 ปี โดยได้มีการบันทึกคุณสมบัติด้านสุขภาพไว้ว่าช่วยลดคอเลสเทอรอล ปัจจุบันมีกระบวนการทางวิทยาศาสตร์และการวิจัยถึงคุณสมบัติที่ดีของน้ำมันเมล็ดชา พบว่าน้ำมันเมล็ดชามีสัดส่วนกรดไขมันชนิดต่างๆ ในปริมาณที่ดีไม่ด้อยไปกว่าน้ำมันมะกอก คือ มีกรดไขมันอิ่มตัวต่ำ มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวตำแหน่งเดียวในรูปของกรดโอเลอิกสูงถึง 88% มีกรดไขในไม่อิ่มตัวหลายตำแหน่งในรูปของโอเมกา 6, 3 เป็นต้น นอกจากนี้ ยังอุดมด้วยวิตามินเอ บี ดีและอีสูง ซึ่งวิตามินอีเป็นสารต้านอนุมูลอิสระจึงช่วยยืดอายุการใช้งานของน้ำมันให้นานขึ้น และมีสารต้านอนุมูลอิสระสูง คือสารแคททีชิน ซึ่งเป็นสารโพลีฟีนอลที่ช่วยลดการออกซิเดชั่นของแอลดีแอล จึงช่วยป้องกันหลอดเลือดตีบตัน และป้องกันการอักเสบของเนื้อเยื่อ ลดอนุมูลอิสระ จึงช่วยลดความเสี่ยงปัญหาสุขภาพ และน้ำมันเมล็ดชา สามารถนำไปประกอบอาหารได้หลากหลายชนิด เช่น น้ำสลัด ผัด ทอด หรือการหมัก เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การใช้น้ำมันจะต้องเลือกชนิดและอ่านฉลากข้อมูลโภชนาการให้ละเอียด รวมทั้งรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ในสัดส่วนที่เหมาะสม เน้นผักผลไม้ที่มีกากใยมากๆ และต้องออกกำลังกายควบคู่ไปด้วยจึงจะช่วยส่งเสริมสุขภาพ ลดความเสี่ยงโรคร้าย และห่างไกลภาวะอ้วนลงพุง


ที่มา : ดร. อภิสิทธิ์ ฉัตรทนานนท์ ประธานมูลนิธิคุณแม่คุณภาพ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น