1/06/2553

รู้จักกับไข้เลือดออก

สาเหตุของไข้เลือดออกมาจากเชื้อไวรัส ซึ่งเป็นพี่น้องกับเชื้อไวรัสที่ทำให้เป็นไข้หวัดทั่วไป อาการหลังรับเชื้อ 2-3 วันแรกจึงเหมือนกับไข้หวัดทุกอย่าง โดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรค ซึ่งหากินตอนกลางวันเท่านั้น จะไข่และแพร่พันธุ์ตามน้ำขัง เช่น ตามกระถางต้นไม้ ร่องน้ำ แจกันดอกไม้ น้ำเน่า น้ำคลอง เมื่อกลายเป็นยุงก็นำเชื้อไวรัสมาสู่คน แต่ไม่ติดจากคนสู่คน ติดจากยุงเท่านั้น เมื่อร่างกายรับเชื้อแล้วจะมีไข้ ปวดเมื่อยตามตัว อาจคลื่นไส้ มีน้ำมูก ไอ เจ็บคอได้ สิ่งที่สำคัญอันดับแรกในการวินิจฉัยโรค คือ การเช็คประวัติว่าถูกยุงกัดหรือไม่ บริเวณบ้านมีน้ำเน่าหรือน้ำขังที่เป็นแหล่งอาศัยของยุงหรือเปล่า

สิ่งที่พิสูจน์ได้ชัดเจนและน่าเชื่อถือที่สุดของการตรวจพบเชื้อไข้เลือดออกคือ การตรวจเลือด โดยถ้ามีไข้ต่อเนื่องกันเกิน 48 ชั่วโมง ควรเข้ารับการตรวจเลือดทันที ส่วนอาการมักรุนแรงกว่าไข้หวัดทั่วไป คือ มีอาการคลื่นไส้อาเจียน ไม่อยากอาหาร ปวดเมื่อยตามตัวมาก ไข้ขึ้นสูง ถ้าเป็นเด็กจะมีอาการซึม ไม่ค่อยเล่น รวมทั้งอาจมีอาการปวดบริเวณใต้ลิ้นปี่ ปวดเสียดท้องจากเลือดออกในกระเพาะอาหารร่วมด้วยได้

อาการแทรกซ้อน

ทางการแพทย์เชื่อว่าผู้ป่วยมีโอกาสเลือดออกในกระเพาะอาหารอยู่แล้ว แต่อาจออกไปเยอะ แค่อาการปวดท้องใต้ลิ้นปี่ธรรมดาก็เตือนเราแล้วว่าอาจมีปัญหาแทรกซ้อนจากโรคไข้เลือดออก แต่หากถึงขั้นอาเจียนเป็นเลือด หรือถ่ายเป็นยางมะตอย (มูกสีดำ) แสดงว่ามีเลือดออกในกระเพาะอาหารมาก อาการถึงขั้นรุนแรงแล้ว ต้องรีบพบแพทย์ด่วน อาการรุนแรงที่สุดของไข้เลือดออก คือ มีอาการแทรกซ้อน เช่น เลือดออกในกระเพาะอาหาร เลือดออกในสมอง เลือกออกไม่หยุด เลือดออกจากทวารทั้งเจ็ด ซึ่งถึงขั้นเสียชีวิตได้ในที่สุด

การรักษา

การรักษาไข้เลือดออก ไม่สามารถรักษาเองที่บ้านได้ ต้องไปพบแพทย์เท่านั้น ไข้เลือดออกมีหลายระดับ หากเป็นระดับธรรมดา ตามทฤษฎีแล้วหายได้เอง เพียงผู้ป่วยกินยาลดไข้ พักฟื้นดูอาการที่บ้านได้ แต่ต้องให้แพทย์วินิจฉัยและตัดสินใจ ไม่ควรปล่อยให้ติดเชื้อนานกว่า 3-4 วัน เพราะจะเริ่มมีผลแทรกซ้อน เกล็ดเลือดต่ำ ถึงขั้นภาวะช็อคได้ซึ่งเป็นอันตรายมาก

ระยะอันตรายของโรคนี้ตรงข้ามกับโรคอื่นตรงที่ โรคอื่นช่วงที่มีไข้เป็นช่วงที่อันตราย พอไข้ลงก็หาย แต่ไข้เลือดออกช่วงที่มีไข้ ผู้ป่วยอาจดูซึม ย่ำแย่ แต่ยังปลอดภัย เพราะจุดที่อันตรายของไข้เลือดออกอยู่ในช่วง 24 ชั่วโมงที่ไข้ลง เนื่องจากช่วงที่ไข้ลงจะมีภาวะการตีบกลับของน้ำของเลือดในร่างกาย ทำให้อาจเกิดภาวะช็อคได้ ดังนั้น จึงมีหลักการรักษาด้วยน้ำเกลือ ซึ่งต้องอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ ส่วนการรักษาอื่นๆ เหมือนการรักษาโรคไข้หวัดทั่วไป เป็นการรักษาตามอาการ เป็นไข้กินยาลดไข้ มีน้ำมูกกินยาลดน้ำมูก ไอ หรือเจ็บคอก็กินยาแก้ตามนั้น

ข้อมูลจาก นพ. วชิระ คุณาธาทร
นิตยสารสุขภาพดี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น