2/07/2553

"นั่งหน้าคอมพ์จนปวดคอ" อย่านิ่งดูดาย

ใครที่รู้ตัวว่ากำลังปวดคอหรือมีความ เสี่ยงจะปวดคอจากการนั่งทำงาน (หรือเล่นเกม) หน้าเครื่องคอมพิวเตอร์นานเกินไปอย่าได้นิ่งเฉย บทความนี้จะพาคุณไปพบกับทางออกที่จะทำให้คุณสามารถป้องกันและลดอาการปวดคอ ที่แสนทรมาน ก่อนจะไปเรียนรู้ท่าทางการป้องกันอาการปวดคอ คุณต้องรู้ก่อนว่าต้นเหตุอาการปวดคอนั้นไม่ได้มาจากการนั่งหน้าคอมพิวเตอร์ นานๆ แต่จะมาจากทุกกรณีที่ทำให้อิริยาบทของร่างกายเราผิดเพี้ยนไป

อาจารย์ผกาภรณ์ พู่เจริญ อาจารย์ประจำคณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) อธิบาย ว่าสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการปวดคอนั้น เริ่มที่การมีอิริยาบถไม่ถูกต้อง เช่น หนุนหมอนสูงเกินไป ก้มหรือเงยหน้านานๆ อาจจะทำงานหน้าคอมพิวเตอร์หรือเขียนหนังสืออ่านหนังสือเป็นเวลานานๆ โดยไม่หยุดพัก แถมการศึกษายังพบว่าอาการปวดคอมีสาเหตุมาจากการเสื่อมสมรรถภาพของกระดูก ส่งผลทำให้มีอาการปวดร้าวไปยังท้ายทอย แขน กล้ามเนื้อแขนอ่อนแรง ขณะเดียวกัน อาการปวดคออาจมีสาเหตุมาจากอารมณ์ตึงเครียดซึ่งส่งผลให้มีการเกร็งของกล้ามเนื้อคอเป็นเวลานาน “เมื่อเกิดอาการก็ต้องรีบรักษา" อาจารย์บอกว่าจะมีการแบ่งผู้ป่วยออกเป็น 2 ระยะ คือ

1.ระยะเฉียบพลัน 1 – 2 ผู้ที่มีอาการปวดคอต้องพยายามพักผ่อนกล้ามเนื้อคอโดยการนอนราบ ใช้น้ำแข็งประคบบริเวณที่เกิดการอักเสบ ใช้เวลาในการประคบประมาณ 15 – 20 นาที

2.ระยะเรื้อรัง ผู้มีอาการต้องยืดกล้ามเนื้อคอด้วยตัวเอง โดยใช้มือดันศีรษะไปในทิศทางที่หันไม่ได้ช้าๆ จนรู้สึกตึงทำค้างไว้ครั้งละประมาณ 10 วินาทีจำนวน 10 ครั้ง หรือจนอาการดีขึ้น แล้วประคบด้วยถุงน้ำร้อน 15 - 20 นาที หมั่นออกกำลังกายกล้ามเนื้อคออย่างสม่ำเสมอ หากมีอาการปวดมากขึ้น ควรรับการรักษาทางกายภาพบำบัด" อาจารย์ย้ำว่าทุกคนสามารถป้องกันไม่ให้เกิดอาการปวดคอได้ ด้วยการหลีกเลี่ยงการทำงานในลักษณะก้มหรือเงยหน้าเป็นเวลานาน และควรเปลี่ยนอิริยาบถบ่อยๆ ไม่นอนหนุนหมอนที่สูงและแข็งเกินไป และออกกำลังกายกล้ามเนื้อคออย่างสม่ำเสมอ อาจารย์ ผกาภรณ์ให้เคล็ดวิชา 4 กระบวนท่าออกกำลังกายเพื่อป้องกันอาการปวดคอ ได้แก่ ท่าก้มและเงยหน้า ท่าหันหน้าซ้ายและขวา ท่าเอียงคอซ้ายขวา และท่าเกร็งกล้ามเนื้อคอ
  • ท่าก้มและเงยหน้า จะเริ่มต้นด้วยการนั่งหรือยืนก็ได้ แต่ศีรษะต้องตั้งตรง จากนั้นค่อยๆ ก้มให้คางชิดอก แล้วเงยหน้าขึ้นช้าๆ ให้มากที่สุด ทำท่านี้ 5 – 10 ครั้ง
  • ท่าหันหน้าซ้ายและขวา จะเริ่มต้นด้วยนั่งหรือยืนก็ได้ จากนั้นหันไปทางซ้ายช้าๆ แล้วค่อยๆ หมุนศีรษะกลับมาทางขวา ทำซ้ำ 5 – 10 ครั้ง ข้อควรระวังหากมีอาการมึนศีรษะ ตาลายให้หยุดการออกกำลังกายทันที
  • ท่าเอียงคอซ้ายขวา จะนั่งหรือยืนก็ได้เหมือนเคย แต่ให้ศีรษะตรง จากนั้นเอียงศีรษะไปทางซ้ายช้าๆ ให้ทิศทางของใบหูจรดไหล่จนรู้สึกตึง ค่อยๆ เอียงศีรษะกลับมาทางขวาทำเช่นเดียวกัน ทำซ้ำประมาณ 5 – 10 ครั้ง
  • ท่าเกร็งกล้ามเนื้อคอ ให้ก้มหน้า วางมือบนหน้าผาก ออกแรงต้านกับการก้มหน้า ครั้งละ 10 วินาที ทำซ้ำ 5 – 10 ครั้ง เงยหน้า ประสานมือที่ท้ายทอย ออกแรงต้านกับการเงยหน้า ครั้งละ 10 วินาที ทำซ้ำ 5 – 10 ครั้ง เอียงคอ วางมือที่ด้านข้างซ้ายของศีรษะออกแรงต้านกับการเอียงคอไปด้านซ้าย วางมือด้านขวาของศีรษะแล้วทำเช่นเดียวกัน ครั้งละ 10 วินาที ทำซ้ำ 5 – 10 ครั้ง หันศีรษะ วางมือซ้ายบนขมับซ้ายออกแรงต้านกับการหันศีรษะไปด้านซ้าย วางมือขวาบริเวณขมับขวาแล้วทำเช่นเดียวกัน ครั้งละ 10 วินาที ทำซ้ำ 5 – 10 ครั้ง การดูแลตัวเองและป้องกันไม่ให้เกิดอาการปวดคอนั้นเป็นสิ่งที่ควรกระทำก่อน ที่จะปล่อยให้อาการปวดคอเกิดขึ้น

    ข้อมูลจาก โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น