2/03/2553

โรคต่อมลูกหมากโต ผู้ชายควรรู้

โรคต่อมลูกหมากโต คืออะไร

ต่อมลูกหมากเป็นอวัยวะส่วนหนึ่งของระบบสืบพันธุ์เพศชาย อยู่บริเวณรอบท่อปัสสาวะที่อยู่ใต้ต่อกระเพาะปัสสาวะ ทำหน้าที่สร้างน้ำหล่อเลี้ยงอสุจิ และสารพีเอสเอ (PSA) ซึ่งเป็นสารที่ทำให้น้ำอสุจิไม่เกาะกันเป็นก้อนเหนียวข้น

เนื้องอกของต่อมลูกหมากจะโต เริ่มพบได้หลังอายุ 40 ปี แต่คนไข้ส่วนใหญ่จะแสดงอาการหลังจาก 50 ปี ไปแล้วเป็นส่วนใหญ่ อุบัติการณ์การพบเนื้องอกของต่อมลูกหมากจะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆตามอายุที่มากขึ้น ต่อมลูกหมากโตไม่ใช่การเจ็บป่วย แต่เป็นลักษณะอาการที่พบได้ทั่วไปตามธรรมชาติเมื่อมีอายุมากขึ้น และเป็นภาวะที่สามารถรักษาได้ ในชายที่มีอายุ 60-69 ปี พบได้มากกว่าร้อยละ 50 และในผู้ที่มีอายุระหว่าง 70-89 ปี จะพบประมาณร้อยละ 90 ชายที่มีเนื้องอกต่อมลูกหมากเพียง 1 ใน 3 เท่านั้นที่ประสบปัญหาเดือดร้อนจากอาการของต่อมลูกหมากโต

เนื้องอกของต่อมลูกหมากจะโตมาจากต่อมลูกหมากบริเวณที่ล้อมรอบท่อปัสสาวะ (transition zone และ periurethral glandular tissue) กดเบียดท่อปัสสาวะทำให้มีอาการปัสสาวะลำบาก ในขณะที่มะเร็งของต่อมลูกหมากส่วนใหญ่ร้อยละ 70 จะมาจากต่อมลูกหมากทางด้านหลังที่อยู่ติดกับลำไส้ใหญ่ส่วนล่าง (peripheral zone)

สาเหตุของต่อมลูกหมากโต

ยังไม่มีหลักฐานยืนยันถึงสาเหตุที่แท้จริงของต่อมลูกหมากโต แต่เชื่อว่าเกิดจากการทำงานของฮอร์โมนเพศที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้เกิดการเพิ่มจำนวนต่อมและเนื้อเยื่อเกี่ยวพันของต่อมลูกหมากจนมีขนาดใหญ่ขึ้น
ขนาดของต่อมลูกหมากจะมีการโตขึ้นครั้งแรกจริงๆ เมื่อเข้าสู่วัยรุ่น และน่าจะสัมพันธ์กับระดับของฮอร์โมนเพศชาย หรือเทสโทสเตอโรน (testosterone) ในช่วงอายุ 30-40 ปี ต่อมลูกหมากจะมีขนาดโตขึ้นเล็กน้อย หลังจากนั้นก็จะหยุดโต จนกระทั่งอายุ 45-50 ปี ก็อาจจะเกิดการขยายขนาดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆตามอายุ

อาการของต่อมลูกหมากโต

คนไข้ต่อมลูกหมากโตจะมีอาการแสดงซึ่งแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม อาการอย่างแรก คือ อาการปัสสาวะบ่อย ร่วมกับอาการแสบขัดได้ เนื่องจากการที่กระเพาะปัสสาวะหนาตัวขึ้นเพื่อเพิ่มแรงบีบตัว ให้สามารถปัสสาวะผ่านรูแคบๆได้ และภาวะติดเชื้อของทางเดินปัสสาวะจากการที่ปัสสาวะตกค้างออกไม่หมด และอาการกลุ่มที่ 2 คือ การปัสสาวะลำบาก ไม่พุ่ง เบ่งนานกว่าจะออก เนื่องจากเนื้องอกต่อมลูกหมากซึ่งร้อยละ 40 อาการเกิดเนื่องจากขนาดของต่อมลูกหมากที่โตกดเบียดอุดกั้นบริเวณคอของกระเพาะปัสสาวะ ร้อยละ 60 อาการเกิดเนื่องจากการหดตัวของกล้ามเนื้อเรียบในเนื้องอกของต่อมลูกหมากทำให้ท่อปัสสาวะตีบแคบลง ในคนไข้บางรายหากไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้เกิดความเสียหายต่อไต เกิดนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ และในคนไข้บางรายกลั้นปัสสาวะไม่ได้

ดังนั้น การตรวจรักษาโรคต่อมลูกหมากโตตั้งแต่อาการเริ่มต้นก็จะช่วยลดโอกาสของการเกิดปัญหาแทรกซ้อนที่จะเกิดขึ้นตามมา

อาการที่พบ
· ปัสสาวะไม่พุ่ง ปัสสาวะสะดุด เบ่งนานกว่าจะออก
· เกิดความรู้สึกอยากถ่ายปัสสาวะขึ้นมาทันที และกลั้นปัสสาวะไม่อยู่
· มีปัสสาวะเล็ด หรือไหลเป็นหยดๆก่อนและหลังจากถ่ายปัสสาวะเสร็จแล้ว
· ปัสสาวะบ่อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลากลางคืน

การรักษาโรคต่อมลูกหมากโต

ปัจจุบันมีการรักษาที่มีประสิทธิภาพ ในรายที่อาการน้อย การปรับพฤติกรรมอาจช่วยทำให้อาการดีขึ้นได้โดยไม่ต้องใช้ยาหรือการผ่าตัด ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับอาการของโรคและสภาพไตว่าได้รับการกระทบกระเทือนหรือไม่ ได้แก่ พยายามถ่ายปัสสาวะเมื่อรู้สึกปวด หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำมากเกินไปช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง และเวลาที่จะเข้านอน งดกาแฟ ชา เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะจะทำให้เข้าห้องน้ำบ่อย ถ้าอาการต่างๆไม่ดีขึ้นแพทย์จะให้ยาคลายกล้ามเนื้อเรียบในต่อมลูกหมาก หรือยาลดขนาดต่อมลูกหมากให้เล็กลง เพื่อทำให้ต่อมลูกหมากไม่เบียดท่อปัสสาวะหรืออาจให้ยาทั้ง 2 อย่างร่วมกัน แพทย็จะแนะนำการทำผ่าตัดแก้ไขการอุดกั้นทางเดินปัสสาวะ ถ้ามีข้อบ่งชี้ในการผ่าตัด ได้แก่ คนไข้ที่ปัสสาวะไม่ออกเลย แม้ว่าจะใด้ยาและลองใส่สายสวนปัสสาวะดูสักพักแล้ว

คำแนะนำในคนไข้ต่อมลูกหมากโต

· ลดน้ำดื่มหลังอาหารเย็นและก่อนนอน
· ไม่ให้ท้องผูก
· หลีกเลี่ยงแอลกอฮอล์ กาแฟ ที่จะกระตุ้นให้ปัสสาวะบ่อย
· หลีกเลี่ยงยาหวัดชนดที่ลดอาการคัดจมูก เนื่องจากอาจจะทำให้กล้ามเนื้อเรียบในต่อมลูกหมากมีการบีบตัวมากขึ้น และหลีกเลี่ยงยาที่ลดการบีบตัวของกระเพาะปัสสาวะ (anticholinergic drugs) เนื่องจากอาจจะทำให้ท่านปัสสาวะไม่ออก


ข้อมูลจาก รศ.นพ.สมบุญ เหลืองวัฒนากิจ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น