9/18/2555

ช็อกโกแลตซีสต์ เรื่องที่ผู้หญิงควรรู้


ช็อกโกแลตซีสต์ ในทางการแพทย์เรียกว่า endometriotic cyst เป็นอาการแสดงออกในรูปแบบหนึ่งของโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญเติบโตผิดที่หรือ endometriosis โรคนี้พบได้บ่อยมากในผู้หญิงที่อยู่ในช่วงวัยเจริญพันธุ์หรือวัยที่ยังมีประจำเดือนนั่นเอง

เกิดจากสาเหตุใด?

ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงของโรคนี้แม้จะมีข้อมูลจากงานวิจัยมากมาย แต่เชื่อว่าน่าจะเกิดจากการไหลย้อนกลับของเลือดประจำเดือนเข้าไปในอุ้งเชิงกราน ทำให้เกิดการฝังตัวของเซลล์เยื่อบุโพรงมดลูกเข้าไปในอวัยวะต่างๆ โดยเฉพาะรังไข่ แล้วเกิดกลายเป็นซีสต์หรือพังผืดได้ ในคนที่มีภูมิคุ้มกันปกติจะสามารถกำจัดเซลล์เหล่านี้ได้ แต่ในคนที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ซึ่งอาจเกิดจากกรรมพันธุ์หรือสภาวะแวดล้อมที่ไม่ปกติก็จะไม่สามารถทำลายเซลล์เหล่านี้ได้ และเกิดการเจริญของเซลล์ผิดปกตินี้ในที่สุด

อาการและการแสดงออกเป็นอย่างไร?

เนื่องจากการเจริญเติบโตของเซลล์ผิดปกติหรือผิดตำแหน่งมักจะเกิดกับอวัยวะอุ้งเชิงกราน อาการที่นำมาจึงเกี่ยวข้องกับระบบสืบพันธุ์ ได้แก่

  • อาการปวดประจำเดือน มักมีความรุนแรงเพิ่มขึ้นในแต่ละเดือน จนกระทั่งการใช้ยาแก้ปวดไม่ได้ผล ในบางรายอาจปวดมากจนต้องฉีดยาแก้ปวดก็มี นอกจากนี้อาการปวดท้องน้อยเรื้อรังหรืออาการเจ็บเวลามีเพศสัมพันธ์ในช่วงใกล้ประจำเดือนก็อาจเป็นอาการของโรคได้เช่นกัน
  • ภาวะมีบุตรยาก เกือบ 1 ใน 5 รายของสตรีที่มีบุตรยากพบโรคนี้ร่วมด้วย เชื่อว่าการฝังตัวของเซลล์ที่ผิดปกติทำให้เกิดพังผืดไปขัดขวางการปฏิสนธิ หรืออาจสร้างสารบางอย่างที่ทำให้ไม่เหมาะสมต่อการตั้งครรภ์
  • ซีสต์รังไข่ เป็นตำแหน่งที่พบบ่อยที่สุด โดยเซลล์เยื่อบุโพรงมดลูกที่ไหลย้อนออกมาในอุ้งเชิงกรานจะฝังตัวที่รังไข่และสร้างเลือดประจำเดือนและกลางเป็นถุงน้ำ เมื่อเวลาผ่านไปเลือดในถุงน้ำจะข้นจนมีลักษณะเป็นสีน้ำตาลคล้ายช็อกโกแลต จึงทำให้เรียกติดปากกันไป ถ้าขนาดไม่ใหญ่มาก เช่น น้อยกว่า 5 เซนติเมตร ผู้ป่วยส่วนมากจะยังไม่มีอาการ ต่อมาเมื่อมีขนาดใหญ่ขึ้นหรือมีพังผืดมาเกาะจึงอาจมีอาการปวดได้ ในกรณีที่โชคร้ายซีสต์หรือถุงน้ำแตกออก ทำให้เลือดในถุงกระจายไปในช่องท้อง เกิดอาการปวดท้องอย่างรุนแรงคล้ายไส้ติ่งแตก


แพทย์จะวินิจฉัยอย่างไร?

เมื่อไปพบแพทย์ แพทย์จะอาศัยประวัติที่ทำให้สงสัยโรคนี้ ร่วมกับการตรวจภายในและอัลตราซาวนด์ แต่การวินิจฉัยที่แน่นอนต้องอาศัยการตรวจทางพยาธิหรือนำชิ้นเนื้อไปตรวจ ซึ่งอาจทำได้ทั้งการผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง หรือการผ่าตัดผ่านกล้อง กรณีเป็นถุงน้ำแพทย์จะต้องแยกโรคจากถุงน้ำชนิดอื่นๆ โดยเฉพาะถุงน้ำที่เกิดจากเนื้อมะเร็ง โดยช็อกโกแลตซิสต์เองพบน้อยที่จะเกิดร่วมกับโรคมะเร็ง

ขอบคุณข้อมูลจาก HealthToday : นพ.ชำนาญ แท่นประเสริฐกุล สูตินรีแพทย์
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น