8/05/2555


เคล็ดลับขจัดอารมณ์เหวี่ยง
ดร.จิตรา ดุษฎีเมธา

ผู้คนในสังคมมีอารมณ์ท้อแท้  โกรธ  โทษ พาลมาจากภาวะอุทกภัยส่งผลต่อการใช้ชีวิตความเป็นอยู่  ส่งต่อถึงอารมณ์ท้อแท้ โกรธ โทษ พาล ซึ่งเป็นภาวะทางอารมณ์ที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน โดยพบกับเหตุการณ์ทางลบที่เข้ามาคุกคามชีวิตอย่างคิดไม่ถึง ตั้งรับไม่ทัน หรือไม่ตอบสนองต่อความต้องการตามความคิดของตนเองจึงทำให้ ที่ทำให้เกิดการเสียขวัญหรือขวัญผวา  (trauma)

เพราะสัญชาตญาณของมนุษย์  ต้องการหลีกเลี่ยงสิ่งที่เป็นทุกข์  แสวงหาหรืออยากอยู่กับความสุข หรือความคุ้นชิน ใช้ชีวิตเป็นปกติอย่างที่เคยเป็นมา คนสูญเสียหรือมีอาการเสียศูนย์ มีกลไกการแสดงออกทางอารมณ์ด้านลบ เป็น 2 ด้าน คือสู้หรือหนี (fight or flight ) หากไม่สามารถสงบสติอารมณ์ได้และ ไม่สามารถปล่อยวาง เมื่อหาทางออกไม่ได้ จึงใช้การกล่าวโทษกัน พาลผู้อื่นและหาทางออกไม่ได้

การหาทางออกที่ดีคือการให้กำลังใจ   ภาวะอารมณ์เช่นนี้  จะเริ่มเบาบางลง  เมื่อเริ่มรับสภาพกับความเป็นไปนั้นๆ ได้ พร้อมไปกับการตั้งสติหาทางออกของปัญหาด้วยวิถีแห่งปัญญา  ที่เรียกว่า การปรับตัวต่อสถานการณ์ได้  เพราะอารมณ์ทุกอารมณ์ไม่ว่าจะเป็นทางบวกหรือทางลบ  เมื่อเข้ามาแล้วมันก็มีทางไปจากเรา หากไม่จดจ่อหรือเอาตนเองไปอยู่ในเหตุการณ์เดิมๆ  ซ้ำๆ  อยู่นานๆ  เมื่อเปลี่ยนบรรยากาศ  เปลี่ยนเรื่อง  เปลี่ยนสถานที่  เปลี่ยนหัวข้อ อารมณ์จะมีการสลับปรับเปลี่ยน และพอจะประคับประคองให้ค่อยๆ ดีขึ้นได้ 

“แต่หากจมอยู่กับสถานการณ์ที่เป็นปัญหาอย่างหมดปัญญา ย้ำกับตัวเองว่า “หมดแล้ว” “ไม่เหลืออะไรแล้ว”  “ทนไม่ไหวแล้ว” หรือพยายามกักอารมณ์ขุ่น และกวนขึ้นมาเรื่อยๆ ด้วยการพูดจาซ้ำๆ วกวน เรื่องเดิมๆ ในแง่ลบแง่ร้าย หรือเติมเชื้อให้เพิ่มขึ้น ด้วยการเสียดสี ประชดใครต่อใครที่เรามองว่ามันเป็นปัญหา จะยิ่งเพิ่มความรุนแรงทางอารมณ์ให้ทวีคูณขึ้นมา  เพราะการรับฟัง รับภาพด้านลบ ในขณะที่จิตตก  อารมณ์ร้าย ความคิดแย่  จะเกิดทะลักจากการท่วมท้นทางอารมณ์จนเกินแรงต้าน จึงทำให้ยิ่งเตลิด  ขวัญหนีดีฝ่อ กระตุ้นให้อารมณ์ลบแสดงออกมาเรื่อยๆ  และแรงขึ้น เพราะมัวแต่วนเวียนอย่างวกวนกับการจดจ่อกับเรื่องแย่ๆ  จนกลายเป็นความเครียดที่ต้องระเบิดออกมาเป็นการเสียดสี ด่าทอ จับผิด จนเกิดการทะเลาะกัน เพราะความเห็นไม่ตรงใจฉัน และจุดฉนวนทำให้เกิดความขัดแย้ง  และแตกแยกได้ จากเรื่องเล็กกลายเป็นเรื่องใหญ่  จากเรื่องไม่เป็นเรื่อง ถูกขยายให้เกิดเรื่อง”


ความคิดเป็นสิ่งที่ทำให้เราเกิดสติ  และเสียสติได้  การตั้งต้นที่ดีในตอนนี้ทางด้านความคิด  ถ้าให้เรา พูดเพื่อระบายอารมณ์เสีย หรือพูดวิจารณ์กันในแต่ละครั้ง  เมื่อเริ่มรู้ตัวว่า ยิ่งพูด อารมณ์ยิ่งปะทุมากขึ้น ให้หยุด ไม่ควรพูดต่อเพื่อความสะใจ ทั้งที่รู้สึกสะเทือนใจ แต่ขอให้คนในสังคมใส่คำพูดที่มีความหวังต่อกัน แทนคำพูดหมดหวัง หรือการจบการพูดคุยกันด้วยคำพูดการประคองใจกันไปให้ได้  ให้เกิดเป็นความรู้สึกร่วมด้านบวก พร้อมจะสู้ชีวิตสู้ต่อไปได้

เช่น  “หากเราช่วยกัน  เราจะร่วมกันฝ่าฟันไปได้”  “ สู้ สู้”   “วิกฤตนี้  ไม่ใช่เราคนเดียวที่ต้องเจอ”  “เราจะมัวแต่รอไม่ได้  ต้องช่วยตัวเองและช่วยกันก่อนในสิ่งที่เราสามารถทำได้”  “ใจเย็นๆ  ใจเย็นๆ”  “เป็นกำลังใจซึ่งกันและกันนะ”


ถ้าต้องพูดกับคนที่มีความคิดในแง่ลบ ขอให้เราเปลี่ยนเรื่องพูดป็นแง่บวกทันที  อย่าไปพูดสนับสนุนความคิดลบของเขา ต้องรู้จักให้กำลังใจตนเอง และให้กำลังใจซึ่งกันและกัน และต้องรู้จัก ตัดอารมณ์ด้านลบออกไปอย่างรู้ตัวเช่นนี้  จะช่วยบรรเทาความรู้สึก อีกทั้งทำให้อารมณ์ดีขึ้น และรู้สึกว่าชีวิตยังมีทางออก มีความหวัง โดยที่ตัวเรายังพอจะทำอะไรได้  ไม่ใช่มัวแต่รอ มัวแต่รับ หรือเอาแต่จับผิดหรือขัดขา  ขัดแย้ง โทษกันไปกันมา อย่างไม่จบสิ้น จนกลายเป็นปัญหาสานต่อปัญหามากขึ้น แทนที่ปัญหามา จะก่อเกิดปัญญา ก่อเกิดความหวัง และพร้อมจะก้าวไปข้างหน้า ยิ่งทวีปัญหาเพิ่มพูนมากขึ้น 

การรักษาจิตใจให้กลับคืนมาสู่ภาวะปกติให้เร็วที่สุด  หรือการทำให้ขวัญกลับคืนมาอยู่กับตัวเองได้ และพร้อมสิ่งที่จะทำให้เราเดินหน้าต่อไปได้   ต้องพูดให้กำลังใจคืนกลับมาสู่จิตใจโดยเร็ว  ความคิดด้านบวกก็ยิ่งเกิดขึ้นเร็ว  ทำในสิ่งที่พอจะจัดการได้  ช่วยกันส่งข้อมูลสร้างสรรค์ และทำอะไรได้ ให้เกิดประโยชน์

ขอบคุณข้อมูลจาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น